Tuesday, October 17, 2006

พาเนเต๊อะ ปราชญ์ชุมชนแห่งลุ่มแม่จัน

พาเนเต๊อะ ปราชญ์ชุมชนแห่งลุ่มแม่จัน

โดย “ นามปากกา “

จะว่าไปแล้ว พวกเราชาวตากก็รู้จักพากันเป็นอย่างดี พาเข้ามาในชีวิตพวกเรา (หรือเราเข้าไปในชีวิตของพา) นับจนถึงวันนี้ก็หลายสิบปี เราอยากจะขออนุญาตเขียนถึงพาในแง่มุมต่างๆ ตามประสบการณ์ของตัวเอง หากท่านใดต้องการจะเพิ่มเติม ก็ขอเชิญส่งเรื่องเข้ามาได้
ชื่อของพาคือ เต๊อะ คำนี้คือคำว่า (อา) ทิตย์ ที่แปลว่า ตะวัน หรือวันอาทิตย์ก็ได้ คำนี้ไม่ได้ออกเสียงเป็นสระเออะ อย่างที่เราคนไทยชอบเรียกกันอยู่ แต่เป็นเสียงสระผสม “อะ กับ อึ” (ถ้าเป็นบ้านเกริงโบ) หรือ “เอาะกับอึ” (ถ้าเป็นบ้านแม่จันทะ) แต่ไม่อาจเขียนออกมาให้ตรงเสียงได้
ส่วน “เน” เป็นคำเรียกคนที่เคยบวชเป็นพระมาแล้ว ในภาษาไทย คือ “ทิด” นั่นเอง คนกะเหรี่ยงเองจะเรียกพาว่า “คว่าเน”


พาเป็นชาวไร่ชาวนา
ชาวกะเหรี่ยงเป็นชาวไร่ชาวนา เป็นคนใช้แรง พามีร่างกายแข็งแรงบึกบึน มีกล้ามเป็นมัดๆ พาไม่เคยแพ้ใครในเรื่องหาอยู่หากิน ทักษะอะไรที่ชาวกะเหรี่ยงมี พามีอยู่ครบถ้วน จะฟันไร่ที่ไหน จะปลูกข้าวพันธุ์อะไร จะปลูกต้นอะไรเพิ่ม หาน้ำผึ้ง ผลหมากรากไม้ หาปลา เลาะป่า ไม่มีอะไรที่พาทำไม่เป็น ไม่มีอะไรที่พาไม่รู้ พาปลูกบ้าน สานกระบุง ตะกร้า ทำกับข้าว งานทุกอย่างเสร็จเร็ว และเรียบร้อย อยู่กับพาไม่ต้องกลัวอด พาสรรหาของดี ของแปลก ของอร่อยมาเลี้ยงเราคนเมืองผู้อ่อนแอ
นอกจากจะอิ่มท้องแล้ว พาก็ยังสอนถึงวิถีชีวิต การทำไร่ การปรุงอาหาร อีกมากมาย ตรงนี้ขอแทรกความเห็นว่า พวกเราน่าจะลองรวบรวมความรู้จากพี่น้องกระเหรี่ยง ยาง และม้ง เขียนเรื่องแนว “how to” เกี่ยวกับการดำรงชีวิตในป่ากัน รับรองสนุกแน่


พาเป็นนายช่าง นักประดิษฐ์
นอกจากพาจะทำของธรรมดาๆ ประเภท ด้ามมีด ปลอกมีด ท่อประปา ครกกระเดื่องในบ้านแล้ว พาก็ยังมีผลงานทำครกน้ำ ที่ห้วยเกริงโบ ซึ่งทำให้ทั้งหมู่บ้านได้อาศัย ที่เก๋สุดคือ พาทำ “หนาเด่ย” พิณทำจากไม้และเส้นลวด หน้าตาเหมือนพิณในละครฉากราชสำนักเมืองพม่า พิณของพามีหลายทรง หลายแบบ เราเองไม่มีความรู้เรื่องดนตรีอะไร รู้แต่ว่า เสียงของพิณทำมือ ใส กังวาน ถ่ายทอดท่วงทำนองดนตรีของชาวกะเหรี่ยงมาสู่โสตประสาทได้เต็มที่ ฟังทีไรก็หัวใจคับอกทีนั้น


พาเป็นศิลปิน : นักดนตรี นักร้อง นักแต่งเพลง และนาฏศิลป์
ยามคืนเดือนหงาย พานั่งดีดพิณ ร้องเพลงที่พาแต่งเอง บรรยากาศแห่งความสุขในค่ำคืนเช่นนั้น ยากจะบรรยาย ใหม่ๆ ตัวเราเองก็รู้สึกแปลกๆ ว่าคนที่นั่งดีดพิณ ร้องเพลงที่แสนไพเราะ เป็นคนเดียวกับชาวไร่ที่อาบเหงื่ออยู่ในไร่เมื่อตอนกลางวัน เพราะในความรับรู้ของคนเมืองแล้ว ศิลปินช่างห่างไกลจากดินทรายเหลือเกิน ที่สำคัญคือ พายังช่วยกำกับดูแลคณะนาฏศิลป์ของหมู่บ้าน ทั้งแต่งเพลง เล่นดนตรี คิดท่าร่ายรำต่างๆ พาเคยเล่าให้ฟังว่า การทำงานศิลปะดนตรี(รวมทั้งการเขียนหนังสือ)ของพาถูกชาวบ้านที่ไม่เข้าใจบางคนมาพูดถากถางว่าจะเล่นดนตรีร้องเพลงไปทำไม ร่ายรำไปทำไม ทำแล้วจะช่วยปฏิวัติได้หรือ จะปฏิวัติก็ต้องถือปืน ต้องรบถึงจะเข้าท่า แต่พาเองไม่เคยย่อท้อ เพราะพาเข้าใจถึงอำนาจแห่งศิลปะว่าจะสามารถปลุกเร้า และปลอบประโลมจิตใจของนักปฏิวัติได้


พาเป็นปัญญาชน นักคิด นักเขียน
เมื่อได้รับมอบหมายให้ไปทำวารสาร “ตะว่องพู้” (ประชาชน) เราก็ถูกส่งให้ไปหาพาที่บ้านเกริงโบ ตอนนั้นตัวเราเองพูดภาษากะเหรี่ยงได้คำสองคำ เพราะอยู่แต่สำนักมาตลอด ขั้นตอนการทำงานจึงต้องเริ่มจากการเรียนภาษากะเหรี่ยงทั้งภาษาเพื่อจะบรรลุไปสู่การเขียนบทความโดยใช้ตัวอักษรมอญ แม้ว่าเราจะเคยเรียนภาษามอญ (ตัวอักษรมอญ) มาแล้ว แต่เรื่องการใช้ตัวอักษรมอญมาเขียนภาษากะเหรี่ยงเป็นเรื่องของภาษากะเหรี่ยงแท้ๆ ไม่ใช่เรื่องของภาษามอญอีกต่อไป พาจึงเป็นครูสอนภาษา (ซึ่งก็คือเสียงพูด) และสอนระบบการเขียน (ภาษาเขียน) ด้วย ถึงแม้เราทั้งเรียนทั้งเขียนบทความกันตามสภาพ คือในเถียงนาท้ายไร่บ้าง บ้านเล็กริมห้วยบ้าง แต่บรรยากาศในการทำงานของเรา ก็เข้มข้นเป็นวิชาการเชียวละ พาตอบทุกคำถามอย่างสั้น ตรง ชัดเจน และลื่นไหล ไม่เคยติดขัด คลุมเครือ
จริงอยู่ว่าพาเคยบวชเป็นพระ (มอญ) มาก่อน จึงเชี่ยวชาญการเขียนตัวอักษรมอญมาก แต่ที่เป็นหัวใจสำคัญก็คือพาเข้าใจภาษากะเหรี่ยงของตัวเองทะลุปรุโปร่งต่างหาก
พาจะนั่งฟังสิ่งที่เรา(ปฏิวัติ/จัดตั้ง)อยากจะถ่ายทอดก่อน แล้วพาจึงเรียบเรียง พร้อมเสนอแนวคิด ข้อเสนอแนะ พร้อมสรรพ ตัวเราเองก็ทำแค่เขียนออกมาตามคำพูดของพาเท่านั้น แล้วก็ไปให้พาตรวจแก้อีกที (มีอีกอย่างที่อยากจะสารภาพคือ ภาษากะเหรี่ยงคำไหนที่เราฟังไม่ออกสักที เราจะมีทางลัดคือ ไปให้พาเขียนให้ดู ฮ่า ฮ่า)
วารสารตะว่องพู้ จึงเป็นผลงานของพาไป 90% ที่เหลือจึงจะเป็นผลงานของร่างทรง (คือเรา)


พาในฐานะตัวแทนชนชาติ
เมื่อปฏิวัติถอนตัวจากฐานที่มั่นจังหวัดตากแล้ว คนม้ง กะเหรี่ยง ยาง ก็ต้องกลับไปสู่อำนาจรัฐเดิมอีกครั้ง ชะตากรรมที่หนักหนาสาหัส คือ พวกเขาจะต้องถูกย้ายลงไปอยู่ศูนย์อพยพข้างล่างหรือไม่ โชคดีที่ยังมีคน(ส่วนน้อย)เห็นว่าพวกเขารักษาป่าไม้ ไม่ใช่ทำลายป่า แต่กว่าจะเข้าใจ คนยาง กะเหรี่ยงก็ต้องอธิบายทำความเข้าใจกันยืดยาว ทั้งๆ ที่ก็เห็นอยู่ว่าบ้านเขาอยู่ในป่ามาเป็นร้อยๆ ปี ภาระหนักอันนี้ พาก็ช่วยแบกรับอย่างไม่ทดท้อ ด้วยความช่วยเหลือจากคนป่าไม้ที่มีคุณธรรมและปัญญาบางคน พาลงไปกรุงเทพ ไปกรมป่าไม้และอื่นๆ ลงไปบอกเล่าวิถีชีวิตกะเหรี่ยงด้วยท่าทีสงบเรียบร้อย นิ่งเย็น ต้องบอกว่าพาเอาตัวเป็นๆ มาแสดงให้เห็นว่า คนกะเหรี่ยงคือใคร เป็นอย่างไร


พาเป็นผู้นำด้านคุณธรรมจริยธรรม
เราอยากจะขอเริ่มที่บุคลิกส่วนตัวและชีวิตส่วนตัวก่อน พาทำงานหนักตลอดชีวิต มือเท้าด้านหนา แต่ทุกคนที่ได้พบจะต้องประทับใจกับกิริยามารยาทที่เรียบร้อยนุ่มนวล ให้เกียรติผู้อื่น และอ่อนน้อมถ่อมตน พาไม่เคยเอะอะเสียงดัง ไม่ด่าทอ ไม่โอ้อวด ไม่เสียดสีให้ร้ายใคร คำว่า “สมบัติผู้ดี” แปลว่าอะไร ก็คงต้องมาดูที่บุคลิกของชาวป่าชาวดอยคนนี้
พามีชีวิตครอบครัวที่น่ารักเป็นที่สุด พายกย่องให้เกียรติ ตลอดจนดูแล มูมาตลอดหลายสิบปี เมื่อสมัยพายังหนุ่มแน่น มูอ่อนแอ ขี้โรค ดูภายนอกแล้ว ช่างไม่สมกันเสียเลย แต่ถ้าหากได้มีโอกาสนั่งอยู่ในบ้านหลังน้อย จะรู้สึกได้ว่านอกจากจุดอ่อนด้อยเรื่องสุขภาพแล้ว มูเป็นคนที่ดีพร้อมทุกประการ ฉลาด นุ่มนวล มีเสน่ห์ น่าแปลกใจจริงๆ ที่ผู้หญิงผอมแห้งคนนี้ จะมีใบหน้าที่ยิ้มแย้มอยู่ทุกคราว ที่สำคัญคือเสียงพูดที่มีท่วงทำนองน่าฟังและมีพลัง
พาและมูฟันฝ่าอุปสรรคในชีวิตด้วยกันมาหลายครั้ง หลายหน ลูกป่วยตายไปคนแล้วคนเล่า มีคนเดียวที่ได้เลี้ยงมาจนเป็นหนุ่มน้อยน่ารัก แต่ก็มาจากไปด้วยเหตุที่ไม่น่าเชื่อยิ่งกว่านิยาย ด้วยสายใยแห่งความรักความผูกพัน พากับมูจึงเป็นที่พึ่งของกันและกัน ผ่านความโหดร้ายของชีวิตมาได้อย่างสง่างาม
ที่ร่ายยาวมาทั้งหมดนี้ เพียงแต่จะบอกว่า ชีวิตส่วนตัวของพา สะอาดใส และก็ไม่ได้ได้เปรียบใครในแง่ที่ว่า ทุกข์แสนสาหัสก็ไม่เคยยกเว้นพา (เหมือนเช่นที่ไม่เคยเว้นใคร) มีภรรยาที่ต้องคอยพยาบาล ลูกตายจนหมด ลูกปฏิวัติก็กลับบ้านไปแล้ว อนาคตชนชาติก็ริบหรี่เต็มที แต่พาก็ยังสดชื่น หนักแน่น มีสตินำพาชีวิตมาได้โดยตลอด
เมื่อก่อนนี้เราเคยคิดว่าพาเป็นพวกถือฤษี จึงเคร่งครัดในเรื่อง เหล้า ฝิ่น หรือการพนัน พาเองก็ไว้ผมมวย นุ่งผ้าไม่เย็บติดกัน แต่นานวันที่ได้รู้จักพา ก็เริ่มเข้าใจว่า พาประพฤติดี ก็เพราะมัน “ดี” พาไม่เคยยึดติดกับยี่ห้อ หรือป้ายชื่อ หรือสมมติ ที่แปะเอาไว้ ประเด็นของฤษีนั้นเป็นเรื่องของวัฒนธรรมชนชาติมากกว่าที่จะเป็นศาสนาหรือการเมือง
มาถึงวันนี้ ถ้าเราไปบ้านพา พาก็ยังชูธงต่อต้านอบายมุขทั้งปวงอยู่เหมือนเดิม ถึงแม้จะมีท่าทีสงบนุ่มนวล แต่พาไม่เคยประนีประนอมให้เหล้า ยา การพนันเป็นสิ่งยอมรับได้(เหมือนเราคนไทย) และแน่นอนที่ว่า การทำดีนั้นไม่เคยจะราบรื่น ชาวบ้านเองก็ใช่ว่าจะทำได้ง่ายๆ หรือเหนียวแน่นไม่คลอนแคลนอย่างพา ซ้ำร้ายหลายคนก็ยังมองว่าเป็นเรื่องของคนแก่ที่แสนจะเชยไม่เข้ากับยุคโลกาภิวัตน์เอาเสียเลย
เมื่อไปเยือนพาครั้งล่าสุดนี้เอง ที่เราเพิ่งจะได้รู้ว่าโดยเนื้อแท้แล้ว พาเป็นพุทธศาสนิกชน พามีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจมาโดยตลอด แน่นอนว่า พาคอยดูแลพระเณรที่วัดด้วยแรงกายอย่างเต็มที่ หากจะมีเงินสักน้อยนิดที่ลูกหลานคนเมืองเอื้อเฟื้อ พาก็ถือเป็นโอกาสไปทำบุญช่วยให้ลูกหลานได้บุญไปด้วยเสียอีก
อยากจะเล่าถึงรูปธรรมการแก้ปัญหาของพาเกี่ยวกับการที่มีใครๆ ไประเบิดปลา หรือเบื่อปลากันจนปลาแทบหมดลำห้วย พาก็เลยประกาศให้ ห้วยเกริงโบบริเวณที่ไหลผ่านหมู่บ้านเป็นเขตอภัยทาน ห้ามจับสัตว์น้ำ ใครอยากจับปลาก็ต้องไปให้ไกลหมู่บ้าน ปรากฏว่าได้ผลชะงัด ตอนนี้หน้าหมู่บ้านมีปลาเยอะมาก(น่าจับจริงๆ) เป็นเขตอนุรักษ์สัตว์น้ำที่เป็นหลักประกันว่า ลูกหลานจะไม่ต้องอดอยากกัน เพราะการใช้ทรัพยากรอย่างไร้สติของคนรุ่นปัจจุบัน
สิ่งที่บอกความเป็นตัวตนของพาที่ดีมากอย่างหนึ่ง ก็คือบ้านของพา
บ้านพาที่เกริงโบมีลักษณะพิเศษคือร่มรื่นด้วยพืชพรรณนานา มีทั้งสมุนไพร ยาป่า ผักป่าหน้าตาแปลกๆ (แต่อร่อย) ที่พาเอามาปลูก มีแปลงผัก กล้วย อ้อย สารพัด ไม่อดอยาก มีรางน้ำประปารอบที่ น้ำที่ใช้ล้างจานแล้ว ก็กลับลงไปรดผักอีก ไม่น่าเชื่อว่าเจ้าของบ้านจะเป็นชายชราวัย 70 ปี ที่มีทั้งภาระส่วนตัว และภาระส่วนรวมล้นมือ

ความที่อยากจะสรุปก็คือ พาเป็นผู้เจริญด้วยคุณธรรมที่สำคัญยิ่งคือ ความองอาจกล้าหาญในการพึ่งตนเองในทุกมิติ และอย่างถึงที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการกินอยู่ หรือความคิดความอ่าน เมื่อพึ่งตนเองได้ จึงสามารถเป็นที่พึ่งของสังคมและชุมชน ไม่ว่าทุกข์ร้อนจะโหมกระหน่ำซัดมาอย่างไร ดวงตะวัน “เต๊อะ” ดวงนี้ก็ยังหยัดยืนเปล่งประกายจากเนื้อแท้ของความเป็นคน เป็นตัวแทนของพี่น้องชาวกะเหรี่ยง-ยาง ชาวป่าดงดอย ที่ชาวเมืองต้องคารวะในปัญญาและความดี ที่อยู่เหนือชนชาติ ชนชั้น ทุน เกียรติ หรือสิ่งมายาทั้งปวง


" นามปากกา " มหาบัณฑิตทางอักษรศาสตร์ ผู้จัดทำวารสาร " ตะว่องพู้ " เมื่อ พ.ศ.นั้น เป็นเจ้าของเส้นทางสู่ "ปทานุกรมภาษากระเหรี่ยง " ในเวลาต่อมา


No comments:


Blog Archive