Monday, July 16, 2007

ผี พระ และแขก

มาแล้วครับ ห่างหายไปเสียนาน รอข้อเขียนและจดหมายจากสหายเขตตาก แต่ยังไม่ได้รับ อาจเป็นเพราะยังเขียนไม่ออก,ติดภารกิจอื่น หรือแม้กระทั่งกำลังทบทวนความจำอยู่ ผมก็ถือโอกาสระหว่างที่รอ เติมข้อเขียนความทรงจำส่วนตัวไปพลางๆก่อน

เห็นหัวเรื่องที่จั่วไว้กรุณาอย่าคิดว่าผมจะเขียนอะไรที่ลุ่มลึกถึงความเชื่อความศรัทธา แต่เป็นปกิณกะเล็กน้อยอันเกิดจากความ "ไม่รู้"ของตนเองเป็นหลัก เมื่อมาทบทวนเพื่อเรียบเรียงก็เกิดอาการ "ขำ"ตัวเองขึ้นมา เอาละ แสดงว่าตรงตามเจตนาของหนังสือที่เป็นการ "ตากอากาศกลางสนามรบ" ขณะที่เขียนเรื่องนี้อยู่ ไฟใต้ไม่เพียงแต่ไม่สงบเท่านั้น กลับลุกลามไปถึงขั้นมีการพูดกันถึงเขตปกครองพิเศษกันแล้ว ส่วนพระท่านก็เพิ่งถอนจากการชุมนุมหน้ารัฐสภาเพื่อเรียกร้องให้บรรจุศาสนาพุทธลงในรัฐธรรมนูญ ยุ่งชะมัด งั้นเอาเรื่อง" ผี " ก่อนก็แล้วกัน

1. อยากรู้.......ถามลุง

มีเวลาแค่เดือนเดียว หลังจากที่รู้ว่าตัวผมเองต้องเดินทางเข้าป่า และ" ป่า"ที่จะต้องเข้าไปนั้น ก็เป็นที่ตั้งถิ่นฐานของพี่น้องชนชาติกระเหรี่ยง จึงต้องพยายามทำความเข้าใจเกี่ยวกับพี่น้องชนชาตินี้ไปพร้อมๆกับการเตรียมตัวเตรียมของเพื่อเดินทาง และเพื่อมิให้ผมไปทะเร่อทะร่าผิดผีผิดประเพณีที่นั่นเขา ทางผู้รับผิดชอบได้จัดศึกษาขึ้นหนึ่งครั้งที่เซฟเฮ้าส์แถวฝั่งธน มีผมเข้ารับฟังเพียงผู้เดียว

" ที่นั่นเขานับถือฤาษีกันอย่างที่ผมเล่ามา อ้อ แล้วนับถือผีด้วย คุณไปถึงที่นั่นแล้วต้องศึกษาให้ดี เพราะเคยมีสหายเราหลายคนไปทำผิดผีเพราะไม่ศึกษามาก่อน เช่น เคยมีสหายเราทานข้าวที่บ้านชนชาติแล้วด้วยความหวังดีจึงช่วยเขาเก็บถ้วยชามไปล้าง เนี่ย! ไปผิดผีเขาเข้า โทษถึงคอขาดเชียวนะคุณ" ผู้มาให้ความรู้สรุปให้ผมฟัง ผมใจหายวาบ นึกเถียงอยู่ในใจอ่อยๆว่า นี่ผมจะเข้าไปปฏิวัตินะครับ ไม่ใช่ไปเผยแพร่ศาสนามี่กาฬทวีป ตายห่า รู้งี้ขอไปอยู่ที่อื่นดีกว่า จะทำไงได้ เพราะจัดตั้งเป็นผู้กำหนดงานและเขตมาให้ผมไปที่นี่นี่นา จะไปที่อื่นก็คงไม่ได้ ส่วนงานที่จะไปทำ ถึงจะไม่ใช่งานมวลชนแต่ก็ต้องพบปะสัมพันธ์กับชาวบ้านแล้วเป็นจำนวนมากเสียด้วย ผมก็เก็บเอาความกลัว"ผิดผี" ติดตัวมาจนเดินทาง

จนกระทั่งเดินทางเข้า"ป่า "มาแล้วและอยู่ต่อมาอีกเป็นปีๆ ผมก็ยังขำความไม่รู้ของตัวเองอยู่นั่นแหละ พี่น้องชนชาติกระเหรี่ยงที่ผมมาอยู่ด้วยนั้น น่ารัก โอบอ้อมอารี และมีอารมณ์ขันเหลือเฟือ ดูแล้วก็ไม่มีทางที่ผมจะคอขาดเพราะเอาถ้วยชามไปล้างเลย ที่พวกเขาห้ามก็เพราะเห็นว่าเป็นคนมาจากในเมือง,เป็นนักศึกษามีความรู้ไม่สมควรต้องทำ เป็นอันว่าเรามาเถียงกันเรื่องความเท่าเทียมกันในกองทัพ ว่าถึงเป็นนักศึกษาก็ไม่มีข้อยกเว้นใดๆที่จะไม่ต้องทำงานอย่างนี้ มากว่าที่จะเถียงกันเรื่องผิดผีตัวไหน

ผมได้รับฟังและหาความรู้เกี่ยวกับเรื่องผีที่พวกเขาเคยถือหรือยังถืออยู่ แต่ก็ไม่มีบรรยากาศดุเดือดเหมือนที่รับฟังมา ถ้าผิดผีของเขาก็มีโทษปรับ เช่น เหล้าหนึ่งขวด หรือเงินหนึ่งบาท อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่อยู่ที่ตาก ผมมีเรื่องเกี่ยวกับผิดผีครั้งเดียว จำได้ว่าเมื่อไปขึ้นบ้านมวลชนครั้งหนึ่ง พอปีนบันใดไปได้สักสองสามขั้น ขั้นบันใดเจ้ากรรมก็หักโครมลงมา ตัวผมลงมากองอยู่ข้างล่าง ได้ยินเสียงเอะอะกันขึ้นหลายคนเป็นห่วงมาช่วยพยุงผมขึ้น เจ้าของบ้านร้องว่า "ผิดผี ผิดผี" และพูดเป็นภาษากระเหรี่ยงอีกหลายคำ ผมฟังไม่เข้าใจ ก็ได้แต่นั่งคลำหน้าแข้ง นึกในใจว่า เอาวะ เอาไงเอากัน วันนี้มาผิดผีเสียได้ จะปรับเท่าไรก็จะยอมจ่ายละ เอ็ดตะโรกันพักใหญ่ ดูเหมือนแตงโม(เตโม)จะมาแปลให้ผมฟังว่า ถ้าผมขึ้นบันใดแล้วบันใดหัก แสดงว่าผมเอาของดีมาทิ้งไว้ที่บ้านเจ้าของแต่ถ้าขากลับลงบันใดแล้วหัก ถือว่าผมมาเอาของดีที่บ้านเขาไป ในกรณีนี้เป็นอันว่าผมเอาของดีมาทิ้งไว้ที่บ้านนี้และพี่น้องชนชาติเป็นฝ่ายผิดผีผม จากการนี้ผมได้รับเงินค่าทำขวัญเล็กน้อยพอเป็นพิธีและด้ายขาวหนึ่งปอย จำได้ว่าดีใจอยู่หลายปี

เรื่องฤาษีนี่สิ ที่ความรับรู้ของผมไม่ปะติดปะต่อพอที่จะเข้าใจได้ทั้งหมด เนื่องจากไม่ได้สัมพันธ์มวลชนและทหารชนชาติที่อยู่ด้วยก็เป็นวัยรุ่นวัยคะนองก้าวหน้าที่ไม่นับถืออะไรทั้งสิ้น อยากเป็นนักร้องอยากจีบสาวไปตามเรื่อง เมื่อไต่ถาม เขาก็เล่าในส่วนที่เขาคิดว่าผมควรรู้ซึ่งไม่ตรงกันเลย และความไม่เอาไหนในการสื่อสารเป็นภาษากระเหรี่ยงของผม จนผมคิดว่าต้องหาความรู้จากคนกระเหรี่ยงที่อยู่ในขบวนการมานานและสื่อสารภาษาไทยได้คล่องจึงจะพออธิบายให้ผมฟังอย่างเป็นระบบได้ ซึ่งคนคนนั้น ลงจากภูก่องก๊องข้ามแม่จันมาที่สำนักพอดี เขาคือลุงเหล็ก

ลุงเหล็ก เป็นชาวกระเหรี่ยงที่เข้าร่วมการปฏิวัติรุ่นแรกๆ พื้นเพของลุงอยู่ทางภาคกลาง เป็นชาวที่ราบทำนาทำสวน ลุงพูดไทยชัดและเข้าใจคนไทยโดยเฉพาะคนเมืองดี ถึงแม้การศึกษาในระบบจะไม่มากแต่ผ่านโลกผ่านการปฏิวัติมานาน ไปเมืองจีนมาแล้ว มีความรับรู้ทางการเมืองสูง ถ้าจะเทียบพรรษาในหมู่พี่น้องกระเหรี่ยงที่เข้าร่วมการปฏิวัติแล้ว ลุงน่าจะอาวุโสในระดับสมเด็จพระราชาคณะเลยนั่นแหละ

เนื่องจากเข็มมุ่งที่จะขยายฐานที่มั่นทางภาคตะวันตกให้เป็นผืนเดียวกัน ทางจังหวัดตากจึงมีทิศทางขยายงานลงใต้เพื่อบรรจบกับทางเขตราชบุรี แต่เป็นไปอย่างเชื่องช้าเพราะที่ตากเองก็มีปัญหาขาดแคลนผู้ปฏิบัติงานอยู่แล้ว ในที่สุด ทางเขตภาคกลางก็ได้ส่งสหายพงษ์และลุงเหล็ก ซึ่งถ้าจะเปรียบก็เทียบได้กับชั้น”อรหันต์ทองคำ” มาช่วยขยายงานทางตากลงไปบรรจบ ท่านหนึ่งเป็นมือดีทางการทหารส่วนอีกท่านหนึ่งเป็นผู้อาวุโสทางงานมวลชน ปรากฏว่าทำให้ขยายงานลงไปได้ดีพอสมควร แต่ก็ติดปัญหาการเดินทางเพราะเขตงานตากมันค่อนข้างห่างไกล เวลาและเรี่ยวแรงหมดไปกับการเดินทางเสียเป็นส่วนใหญ่
เมื่อได้ถามเรื่องฤาษีกับลุงเหล็ก ลุงตอบว่า

“ จะมาถามอะไรที่ผม ผมก็รู้พอๆกับสหายนั่นแหละ ผมอยู่แม่จันทะครั้งละสามสี่วันก็ต้องรีบกลับไปทางโน้น ไม่เคยคุยด้วยหรอก”

“ อ้าว ! ผมนึกว่าเป็นกระเหรี่ยงด้วยกันก็น่าจะรู้” ผมแย้ง

“ ไม่รู้หรอก มันไม่เหมือนกับทางบ้านผม ที่โน่นไม่มียังงี้หรอก เรื่องความเชื่อก็แบบเดียวกับคนไทยภาคกลางแหละ เข้าวัดทำบุญ เรื่องผีเรื่องสางก็มีบ้างอย่างเข้าเจ้าทรงผีก็เหมือนทั่วๆไปแหละ”

“นึกว่าจะรู้บ้างครับ”

“ไม่รู้หรอก มารู้ตอนเดินทางมาถึงเขตเหนือแล้ว ก่อนจะลงมาทางใต้ สหายที่นี่เล่าให้ฟังว่าทางใต้นับถือฤาษี ลุงยังนึกว่าที่นี่นุ่งหนังเสือถือไม้เท้ากันเลย”

“ ไฮ้ ! ไอ้ที่นุ่งหนังเสือนี่ลุงเอามาจากไหนครับนี่ “

“ อ้าว ฤาษีก็ต้องนุ่งหนังเสือสิสหาย ลุงเอามาจากหนังกลางแปลงที่ไปฉายแถวบ้านลุงบ่อยๆไง”

“ ฮ่วย ! “


2. ไม่รู้.....พระช่วย


เมื่อบันทึกถึงพระ ก็คงเดากันได้อีกนั่นแหละ ว่าเกิดขึ้นที่จะแก เพราะเป็นที่เดียวที่มีวัดและพระ และมีที่เกี่ยวข้องอีกหน่อยก็คือ ครั้งที่ยังอยู่ที่โรงเรียนการเมืองการทหารเรามีสหายร่วมรุ่นที่อาวุโสกว่าคนอื่นๆสองท่าน ท่านหนึ่งคือสหายสัจจะซึ่งมาจากกรรมกร ส่วนอีกท่านหนึ่งคือสหายดอนซึ่งสึกหาลาเพศมาจากพระ ทั้งสองท่านต่างคนต่างที่มากัน มาอยู่ร่วมกันช่วงสั้นๆในโรงเรียนฯ แล้วก็แยกกันไปทำงาน เมื่อเลิกปฏิวัติ ก็ต่างคนต่างมีที่ไปคนละทาง สหายสัจจะมอบตัวเป็นศากยบุตรและอยู่ใต้ร่มกาสาวพัตร์มาจนทุกวันนี้ ส่วนสหายดอนนั้นได้ทราบครั้งสุดท้ายก่อนข่าวคราวจะขาดหายไปหลายปีแล้วว่าไปเป็นกรรมกร

สหายดอนหรือลุงดอนตามที่พวกเราเรียกกัน เคยเล่าให้พวกเราฟังว่าตัวลุงนั้นบวชมาตั้งแต่อายุยังน้อย เนื่องจากเป็นคนเรียบร้อยและรักการเรียนรู้จึงสามารถสอบนักธรรมและเปรียญธรรมได้ขั้นสูงมีฐานานุกรมในระดับตำบลและระดับอำเภอมาตามลำดับ แต่เนื่องจากมีจิตใจรักความเป็นธรรมและจะไม่ยอมใครถ้ามีอะไรที่ไม่เป็นธรรม จึงมีปัญหากับผู้บริหารสงฆ์จนสุดท้ายต้องลาจากสมณะเพศ ประจวบกับทางจังหวัดตากต้องการผู้ที่สามารถสอนการทำนาแบบที่ราบภาคปฏิบัติได้ ทางจัดตั้งจึงส่งแกมาเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการทำนา แต่เท่าที่เคยคุยกันบ่อยๆ เห็นว่าที่แกมีความชำนาญจริงๆนั้น่าจะไม่ใช่เรื่องทำนาหากแต่เป็นเรื่องสงฆ์และกิจการของสงฆ์มากกว่า

ลุงดอนนี่เองเคยปรารภกับผมเมื่อเราได้ทราบว่าที่จะแกมีวัดและมีพระจำพรรษาอยู่ว่า ถ้ามีโอกาสแกจะไปจะแกสักครั้งหนึ่งเพื่อจะลองสอบทานดูว่าพระที่นั่นสวดปาติโมกข์ได้หรือเปล่า

“ สวดปาติโมกข์ไม่ได้มาจำวัดอยู่ในป่าอย่างนี้ไม่ได้หรอก เวลาเข้าพรรษาต้องสวดปาติโมกข์ตอนทำวัตรเย็นแล้วจะสวดได้ยังไง”แกว่า

ยังไม่ทันจะไล่บาลีกับพระแกก็ย้ายไปประจำหน่วยเทคนิคการผลิตที่เกริงโบเสียก่อน ขณะที่ผมก็ตามกองร้อย911ลงมาฝึกภาคสนามที่จะแก ครั้งนี้ได้อยู่จะแกเดือนกว่า จากที่เคยไปไหนมาไหนต้องมีสหายท้องถิ่นพาไปก็ค่อยๆคล่องขึ้น ผมมักออกไปหายิงกับสหายช่วงด้วยกันสองคนเสมอเมื่อมีเวลาว่าง ที่นี่เองเราได้อาศัยวัดเป็นที่ตั้งโรงเรียนการทหารภาคปฏิบัติชั่วคราว เนื่องจากเวลานั้น พระคุณเจ้าต่างพากันรอนแรมธุดงค์ไปที่อื่นหมดทั้งวัด ทางฝ่ายอำนาจรัฐจึงอนุญาตให้เราเข้าใช้ได้โดยระมัดระวังไม่ให้เกิดความเสียหาย เมื่อกองร้อยเดินทางมาถึงก็ไม่ได้พบพระแล้วเพราะท่านออกเดินทางไปก่อน

วันนั้นไม่มีการฝึก จำได้ว่าเป็นวันที่เราเตรียมเสบียง ส่วนใหญ่ก็ช่วยกันตำข้าว,หาฟืนหรือออกไปหายิงสัตว์ มีส่วนหนึ่งไปหาซื้อน้ำตาลและปลากระป๋องที่จอห์นสโตร์,ซึ่งเป็นร้านค้าของเหมืองที่มีผู้จัดการเป็นแขกดำชื่อจอห์น เวลาเรียกขานกัน ก็ สหายจอห์น มิสเตอร์จอห์นหรือไอ้จอห์น แล้วแต่ว่างวดนั้นจะขอแบ่งซื้อของได้มาก ได้น้อย หรือไม่ได้เลย, งานที่ที่ตั้งชั่วคราวทำกันครึ่งวันก็เสร็จ ตอนบ่ายก็ออกไปเที่ยวเล่น ผมกับสหายช่วงเดินไปตามทางไปเหมือง เป็นการเดินทางสบายๆเพราะเป็นเขตชั้นใน เราเดินจนพบทางรถแล้วจึงเลี้ยวขวาเดินตามทางรถที่เป็นดินไปพ้นป่าไผ่ก็เป็นที่โล่ง

โน่น มาโน่นแล้ว เป็นขบวนเลย มีพระนำหน้ามาเชียวครับ หลวงพี่รูปที่เดินนำหน้าจีวรปลิวสีเหลืองอร่ามเลย แถมสวมแว่นดำเรย์แบนด์อีกต่างหาก ติดตามมาด้วยขบวนเณรน้อยและเณรโค่งสี่ห้ารูปแล้วมีอุบาสกอุบาสิกาอีกห้าหกคนปิดท้าย
แวบนึงที่คิดตอนนั้นก็คือ แล้วจะทักทายกับพระยังไงดี เอาตามปกติดีไหม คือจับมือเขย่ากัน สัญชาติญาณดั้งเดิมของผมปฏิเสธทันทีว่าไม่ได้ ไม่มีใครเขาทักทายพระกันแบบนั้นหรอก ตั้งแต่เด็กๆมาถ้าเจอพระผมก็จะนั่งยองๆยกมือไหว้ตามผู้ใหญ่ ถ้าอยู่ในเครื่องแบบนักเรียนก็ยืนคำนับ อ้าว วันนี้ก็อยู่ในเครื่องแบบเหมือนกัน แต่เป็นเครื่องแบบทหารปลดแอกฯ นี่นา เราไม่มีประเพณีไหว้กันนี่ มีแต่จับมือกัน

ท่านผู้อ่านโปรดนึกภาพตามไปด้วย ว่าขณะที่ยังนึกไม่ออกว่าจะทำอย่างไรดี ผมหยุดเดินแล้ว แต่ขบวนของพระท่านยังไม่หยุด ระยะห่างระหว่างเราสั้นลงมาเรื่อยๆ

“ เอาไงดี สหายช่วง จับมือหรือไหว้ ดี “

“ ไม่รู้สิ จับมือดีกว่า ในนี้ไม่เห็นมีใครเขาไหว้กัน”

“ จับมือกับพระ ผมก็ไม่เคยทำเหมือนกัน”

“ นั่นสิ เอาไงดี ไม่น่ามาเจอกันตรงนี้เลย หรือเราจะหลบ “

“ เฮ้ย จะหลบได้ไง มาถึงแล้ว”

เสี้ยววินาทีนี้ผมคิดถึงลุงดอน

ครับ ท่านที่นึกภาพตามก็จะเห็นว่า ทั้งสองขบวนได้มาถึงกันแล้ว หลวงพี่ที่นำขบวนคงถึงพร้อมด้วยนานาธิมุตติกญาณ รู้อัธยาศัยแห่งสัตว์ มองทะลุความประดักประเดิดของเราออก ท่านช่วยแก้ปัญหาให้เราโดยสาวเท้าตรงมาที่เรา พลางยื่นมือขวาออกมาพร้อมกับกล่าว

“ อ้อ สหายมา สวัสดี สหาย”

เราจับมือกับท่าน จำได้ว่าพูดคุยกันคำสองคำ ก็แยกทางกันไป

เฮ้อ ! โล่งอกไปที


3. แขกที่เป็นแขกของสหายแขก


ท่านที่ติดตามมาคงจะไม่ค่อยแปลกใจเวลาที่เขียนถึงผี ฤาษี หรือพระ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าเขตตากมีชนชาติกระเหรี่ยงเป็นหนึ่งในสองชนชาติหลักที่อยู่ในพื้นที่นั้น แล้วถ้าพูดถึงแขกล่ะ มันจะมาเกี่ยวข้องกันอย่างไร ผมคงต้องขอท้าวความนำทางท่านผู้อ่านสักหน่อย

สำหรับเขตเหนือของฐานที่มั่นตากนั้น ประชิดอำเภอแม่สอด เมื่อข้ามชายแดนแม่สอดเข้าไป คือดินแดนที่เป็นแหล่งรวมหลายชนชาติและแต่ละชนชาติก็มีพื้นที่ปกครองตนเองที่พอสมควร เราจะรู้จักมักคุ้นกับ ไทยใหญ่,กระเหรี่ยง,มอญหรือว้าซึ่งอยู่ประชิดบ้านเราและมีข่าวเกี่ยวกับชนชาติเหล่านี้เสมอ แต่ถ้าทางตะวันตกของพม่าซึ่งติดกับอินเดียทางแคว้นอัสสัมและบังคลาเทศ ชนชาติส่วนน้อยทางนั้นเช่นพวกที่อยู่ทางเทือกเขาอาระกันมักจะออกไปทางอินเดียหรือบังคลาเทศที่เราเรียกรวมๆว่า”แขก”นั่นเอง และเป็นเชื้อสายเดียวกับ”แขก”ที่อยู่เมืองไทยนี่แหละครับ ดูไม่แตกต่างกันหรอก เส้นทางด่านแม่สอดเคยเป็นเส้นทางหลบหนีเข้าเมืองของ”แขก”ที่ผมเล่ามานี้ก่อนที่จะมีแรงงานพม่า-กระเหรี่ยงดังเช่นทุกวันนี้

ที่ชื่อเรื่องว่าแขกนั้น รับประกันความพอใจว่าเกี่ยวกับแขกจริงๆ เกี่ยวข้องกับ”แขก”คือ ในฐานที่มั่นเขตเหนือได้มีโอกาสต้อนรับ”แขก”จริงๆสองคนมาเป็นแขกของเขตงานอยู่พักนึงและที่สำคัญบุคคลที่เกี่ยวข้องเรื่องนี้ตลอดเรียกว่าเป็นพระเอกก็ได้หน้าหล่อเหมือนแขก

ครับ โหมโรงแล้ว ออกแขกแล้ว เราก็ปล่อยตัวพระเอกออกมาร่ายรำกันเสียที สมมุตินามตามท้องเรื่อง
พระเอกของเราวันนี้ทอลล์ดาร์คแอนด์แฮนด์ซัม ถ้าพบตัวก็ต้องสันนิษฐานเป็นอย่างเดียวกันว่ามีเชื้อสายเป็นแขกแน่ๆ หน้าตาหล่อเหลาในระนาบเดียวกับ อมิตาป ปัจจัน หรือ ราช การ์ปูร์ มีชื่อที่ใช้ในการแสดง ขอโทษ ชื่อจัดตั้งว่าสหายแค้น เมื่อเลิกปฏิวัติและเลิกใช้ชื่อนี้ เพื่อนๆก็หันไปเรียกแกว่า”แขก”กันหมด ชื่อนี้เลยกลายเป็นชื่อเล่นไป

สหายแค้นเข้าป่าหลังเหตุการณ์หกตุลา19ไม่นาน เข้าใจว่าประสบการณ์ที่เจ็บปวดจากการถูกปราบปรามจับกุมคุมขัง เลยตั้งชื่อว่า”แค้น” ก่อนเข้าป่ามาสหายเรามีอาชีพเป็นนักดนตรี มีฝีมือระดับเยี่ยม คือเล่นในวงฟิลิปปินส์ตามโรงแรมห้าดาวในขณะนั้น หลังจากเข้าป่ามาปฏิวัติแล้วก็ได้ประจำอยู่ในกองร้อย911เขตเหนือ เนื่องจากที่เขตนี้การศึกสงครามค่อนข้างชุกโดยเฉพาะการขัดขวางการสร้างเส้นทางสายแม่สอด-อุ้มผาง เมื่อมีการจัดศึกษาและรวมกองร้อยทหารหลักทั้งจังหวัดขึ้นที่จะแก เขตเหนือจึงได้แต่ส่งสหายใน911เหนือเข้าร่วมส่วนหนึ่งเท่านั้น ที่เหลือต้องยืนหยัดรับศึกดังกล่าว สหายแค้นอยู่ในพวกหลังนี้
สหายแค้นร้องและเล่นเพลงฝรั่งที่เปิดกันยุคนั้นได้ทุกเพลง อาจจะโดยอาชีพดั้งเดิมก็ได้ ในส่วนตัวแกเองประกาศตัวว่าเป็นสานุศิษย์ของวง The Beatle ตอนที่ทราบข่าวทางวิทยุBBC ว่า JOHN LENON ถูกยิงเสียชีวิตที่หน้าอพาร์ทเม้นท์ ได้ทราบว่าแกเสียใจมาก ครั้นเมื่อออกจากป่ามาแล้วได้ข่าวว่าสหายเราไปบวชอยู่ที่วัดแค นางเลิ้ง นานพรรษาหนึ่ง มีโอกาสไปกราบหลวงพี่แขก แกบอกสั้นๆว่า “บวชอุทิศส่วนกุศลให้เลนน่อน”

ปลายปี2522 ผมมีเหตุต้องลงมากรุงเทพฯเพื่อเดินทางต่อไปเขตอีสานเหนือระยะหนึ่ง ช่วงนั้นช่องทางการติดต่อของทางเขตใต้กับในเมืองสะดุด จึงต้องเดินทางมาทางเขตเหนือเพื่อใช้ช่องทางเขตเหนือที่ยังใช้งานได้ปกติ เมื่อมารอเมล์ที่เขตนี้ผมได้มาพักอยู่ที่โรงเรียนบ้านห้าหลังซึ่งตรงกับช่วงเวลาที่บรรดาสหายทางเขตเหนือจัดสัมมนาสรุปงานและเปิดให้วิจารณ์การบริหารงานของทางเขตพอดี นับเป็นการรวมสหายเกือบทั้งเขตงาน ผมซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเพราะแค่ผ่านทางมาพร้อมกับสหายช่วงได้อาสาเป็นพี่เลี้ยงทำหน้าที่หุงหาอาหารในครัวร่วมกับสหายทางเขตเหนือที่สลับกันมาเข้าเวรพี่เลี้ยง การเตรียมอาหารทางเขตเหนือนับว่าสะดวกกว่าทางใต้เพราะเขตนี้เศรษฐกิจค่อนข้างดีและประชาชนสนับสนุน เรื่องข้าวสารและฟืน พี่เลี้ยงทั้งหลายก็สบายไปตามๆกัน
จำได้ว่าสัมมนากันมาหลายวันจนมาถึงวันที่เสนอความเห็นต่อทางฝ่ายนำ วันนั้นผมและสหายช่วงเข้าครัวพร้อมสหายแค้น เราเตรียมอาหารมื้อเย็นกันตั้งแต่วันโดยตั้งใจว่าจะตีเกราะกินข้าวกันวันหน่อยแล้วเราจะออกไปบ้านประชาชนเพื่อหาซื้อหมูมาเตรียมจัดงานวันปิดประชุม แต่การอภิปรายในวันนั้นกลับยืดเยื้อเลยเวลารับประทานอาหารเย็นตามปกติออกไปอีก เราคาดกันว่าคงมีการเสนอปัญหาและการอภิปรายโต้แย้งกันดุเดือด ดูได้จากสีหน้าของสหายบางส่วนที่ลงมาเอาน้ำต้มในครัว ผมถามหมอมงคลว่าไปถึงไหนแล้ว หมอตอบว่า

“ อภิปรายกันดุเดือดมาก ป่านนี้คงเข้าตลุมบอนกันแล้วมั๊ง”

ยิ่งเย็นก็ยิ่งได้ยินเสียงอภิปรายลอดออกมาดังขึ้นเรื่อยๆ จะตีเกราะเคาะไม้เรียกรับประทานข้าวก็คงไม่เข้ากับบรรยากาศนั้นเสียแล้ว เราปล่อยเลยตามเลย เลิกคิดเรื่องไปบ้านประชาชน สหายแค้นเดินข้ามไปหยิบกีต้าร์มาสองตัว กลิ้งครกตำข้าวเก่ามาที่หน้าประตูครัวนั่นเอง แล้วแกก็ถามผมว่า เล่นเพลงฝรั่งได้หรือไม่ ผมออกตัวว่าเล่นได้เฉพาะเพลงโฟล์คง่ายๆเท่านั้น เท่าที่ทราบมาว่าแกเคยเล่นอยู่กับวงฟิลิปปินส์ ถ้าจะเล่นให้ชมเป็นขวัญตา ผมก็จะขอบคุณมาก แกยิ้มๆ แล้วก็บอกว่าจะเล่นเพลงของ Simon & Garfungel ให้ฟัง
ภาพในวันนั้น ผมยังจำได้จนถึงทุกวันนี้ สหายแค้นยืนร้องและเล่นเหมือน พร ใส่หมอน มีสหายช่วงยืนร้องคลอเหมือน อาจ กัดฟันเก่ง มีผมเป็นผู้ชมเพียงคนเดียว เมื่อเริ่มเล่นintroนั้น เสียงที่อภิปรายยังดังลอดลงมาถึงครัวอยู่ พอร้องกันมาถึงกลางเพลงผมรู้สึกว่ามีคนมานั่งข้างๆสองสามคนหันไปดู พี่หมอและสหายเรานั่นเอง ตอนนั้นเสียงอภิปรายเงียบลงแล้ว ปรากฏเป็นแถวของสหายพรั่งพรูผ่านประตูมุ่งลงมาที่ครัว เปล่าครับ ไม่ได้เดินไปตักข้าวในครัว กลับทรุดตัวลงนั่งหน้าครัวร่วมร้องเพลง เป็นครั้งแรกที่ได้ยินเพลงฝรั่งในป่าที่ร้องกันดังขนาดนี้ ผมกับสหายช่วงเลี่ยงออกมาเพื่อเตรียมตักอาหารในขณะที่ผู้ร่วมร้องเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เสียงเพลงสลายความแข็งกร้าวของการโต้เถียงลงไปจนหมด สหายช่วงกระซิบกับผมที่หน้ากระทะหุงข้าวว่า

“แม้เสียงปี่เป่าไปให้ได้ยิน ก็สุดสิ้นโทโสที่โกรธา “

นี่เป็นความประทับใจครั้งแรกที่มีต่อ อมิตาบ ปัจจัน ของพวกเรา

ผมยังรอเมล์ต่อมาอีกหลายวัน ระหว่างที่พักรออยู่ที่โรงเรียน สายวันหนึ่งมีสหายพี่น้องม้งที่เป็นทหารแวะมาแจ้งว่าสหายแค้นต้องการให้ผมและสหายช่วงไปที่สำนักทหารของแกทันที สอบถามจากผู้ที่มาแจ้งข่าวก็ไม่ทราบว่าอยากพบด้วยเรื่องอะไรแต่กำชับให้เราเอาเสื้อผ้าเครื่องนอนไปด้วยเผื่อว่าต้องค้างคืนก็จะได้ไม่ต้องกลับมาที่โรงเรียนให้เสียเวลา เราสองคนเก็บข้าวของเสร็จก็ออกเดินทางทันที ใช้เวลาสักชั่วโมงก็ถึงสำนักทหาร เราพบสหายแค้นที่โรงพักของหน่วย แกไม่พูดพล่ามทำเพลง ยื่นกระดาษเปล่าให้หลายแผ่น แล้วแจ้งภารกิจให้เราทันที

“ ผมอยากให้คุณสองคนช่วยสอบเชลยหน่อย”

“ อ้าว สอบสวนก็ต้องให้สหายชาญผู้บังคับบัญชาฝ่ายทหารกำหนดตัวคนมาซักถามสิ หรือถ้าเป็นคนหลงเข้ามาก็ต้องให้อำนาจรัฐเป็นผู้รับผิดชอบ”

“ ผมรู้ ผมรู้ แต่มันมีปัญหาคือ เชลยสองคนเป็นพวกกองพล93ที่มาคุ้มครองเส้นทาง แล้วยังไงไม่ทราบ คงจะหนีทัพหลงเข้ามาในเขตเรา ไม่ได้กินข้าวมาเป็นอาทิตย์ ทหารบ้านเราลาดตระเวนไปเจอเข้าเลยควบคุมตัวมา ต้องให้น้ำเกลืออยู่วันนึง นี่ค่อยอาการดีขึ้นแล้ว”
“ ผมยังไม่รู้เรื่องอยู่ดี”

“ ผมยังพูดไม่จบ คือสองคนนี้พูดได้แต่ภาษาพม่ากับอังกฤษ เท่านั้น สหายธงที่พูดพม่าได้ก็ไม่อยู่ ผมอยากให้คุณสองคนช่วยสอบเป็นภาษาอังกฤษหน่อย”

สหายช่วงเข่าอ่อนต้องทรุดตัวลงนั่งบนกระบอกไม้ไผ่เก่าๆแถวนั้น ส่วนผม สหายช่วงบอกตอนหลังว่าหน้าซีดเหมือนกระดาษที่ถืออยู่ในมือ ตายห่า กะอีแค่ร้องเพลงฝรั่งได้นี่นะ จะให้สอบสวนเป็นภาษาอังกฤษ แต่เมื่อคิดจากสภาพที่เห็นอยู่ ก็ป่วยการที่จะมาท้อถอย อะไรทำได้ก็ทำไปตามมีตามเกิดก็แล้วกัน

“เอาก็เอา ผมจะลองดู แต่สหายอย่าคาดหวังว่าจะได้อะไร ผมยังนึกไม่ออกเลยว่าจะถามอะไร และจะถามเป็นภาษาอังกฤษว่ายังไง”

สหายแค้นแสดงอาการดีใจ จนออกนอกหน้า บอกว่า

“ ดีมากครับ มา ผมจะพาไปพบพวกเขา ความจริงดูแล้วก็ไม่ใช่พวกปฏิกิริยาหรอก คงถูกกวาดต้อนบังคับมาเป็นทหารเลยหนีทัพมาหาพวกเรา น่าสงสารมากแต่กินจุจังเลย นี่มาม่าของผมหมดสำนักแล้ว ผมส่งทหารไปขอเบิกกับหน่วยพลาฯที่สำนักสหายประโยชน์ยังไม่กลับมาเลย”

“ คุณให้พวกเขากินมาม่าต่างข้าว เท่าไรมันจะไปพอ ทำไมไม่ให้พวกเขากินแบบที่เรากินกัน”

“ โอ๊ย!ไม่ได้หรอก พวกเขาเป็นแขก แขกจริงๆนะสหาย แขกแบบผมนี่แหละ แถมนับถือศาสนาอิสามด้วย สำนักผมเพิ่งซื้อหมูมาตัวนึง ทำเค็มไว้กินกันหลายวัน กับข้าวทุกอย่างมีหมูหมด พวกเขาสองคนเลยได้กินแต่มาม่า”

พวกเราคงพูดถึงมาม่าดังไปหน่อย ทันใดนั้นประตูกระท่อมก็เปิดออก มี”แขก” โผล่ออกมา นุ่งโสร่งเก่าๆ หน้าตาซูปเซียว

“ สหายแค้น ไอแอมฮังกรี้ 2 มาม่า “ พลางชูสองนิ้วประกอบการสื่อจำนวนที่ต้องการ

ผมใช้เวลาคุยกับเขาสองคนจนดึก แล้วต่อวันรุ่งขึ้นอีกครึ่งวัน ดูแล้วสองคนก็ไม่น่าจะมีฐานะเป็นเชลยศึกแต่อย่างไร เพราะถูกบังคับกะเกณฑ์มาเป็นหน่วยกองหน้าสร้างทาง โดยทหารพม่าบังคับตัวมาให้ทหารกองพล93ที่ขณะนั้นคุ้มครองการสร้างทางอยู่ เมื่อมาถึงก็ได้รับแจกปืนคนละกระบอกพร้อมคำสั่งให้ออกเดินหน้า ห้ามถอยเด็ดขาด ถ้าถอยจะถูกยิงทิ้งทันที เขาทั้งสองคนกลัวมาก เมื่อมีโอกาสจึงหลบหนีเข้าป่าลึก อดอาหารอยู่หลายวันจนทหารบ้านไปพบเข้า

รุ่งขึ้นตอนบ่าย ผมสรุปสิ่งที่ซักถามกับสหายแค้นพร้อมทั้งเสนอความเห็นว่า ถ้ารักษาตัวพวกเขาหายดีแล้วก็น่าจะปล่อยตัวกลับไปให้กลับถิ่นฐานบ้านเดิมเสียหรือถ้าจะเดินหน้าหลบเข้ามาหาทางขายถั่วในเมืองไทยก็แล้วแต่ ถ้าจะชักชวนให้มาร่วมกันปฏิวัติไทยก็คงลำบากเพราะพูดกันไม่รู้เรื่องแถมอาหารการกินก็คงไม่เหมาะที่จะอยู่เขตม้งแน่ๆแล้วจะให้กินแต่มาม่าก็คงไม่ไหว เออ กลับบ้าน เหอะ

“ สรุปว่าที่คุณซักถามก็เท่ากับที่ผมรู้จากพวกเขาแค่นั้นใช่ไหม?”

“ มากกว่านิดนึง ผมถามแล้ว เขาชื่อ โมฮัมหมัด อาลี กับ โมฮัมหมัด บอโร อ้อ เขาชอบ เดอะ บีทเทิล เหมือนคุณด้วย ที่ต่างกันก็คือเขาชอบ จอร์จ แฮริสัน มากที่สุด”

ผมเดินจากมา คิดถึง”แขก”ของสหาย”แขก”ที่เป็น”แขก”จริงๆ ทั้งสองคน อยู่ตั้งไกลแสนไกล โชคชะตาเล่นตลกให้มาเจอกัน ไม่ว่าหนทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ก็ขอให้โชคดีเถอะ บัง

......สะลาม มัยเลกุม.........

Friday, March 16, 2007

เสือ ที่ซัมพาล่า

เส้นทางจากแม่จันทะสู่จะแก เป็นเส้นทางที่ออกเช้าถึงค่ำ จำได้ว่าออกจากสำนักแม่จันเช้าสัก7.00 น. เตรียมข้าวห่อสำหรับมื้อกลางวันแล้วข้ามแม่จัน เลย มุ่งหน้าตะวันตก เริ่มขึ้นภูก่องก๊องก็เกือบเพลภูก่องก๊องมี 3 ชั้นใหญ่ๆโดยประมาณ แต่ไม่ร้อนเพราะเป็นป่าทึบ ชั้นสุดท้ายโหดหน่อย เมื่อถึงยอดจะเป็นซอกหินต้องเดินอ้อมไป บรรยากาศจะเย็นและเงียบ เรียกว่า "เยียบ" ก็ได้ ขวามือเป็น ป่าลั่นทม ตามปกติเราจะพักกันที่นี่สักนิดนึงให้หายเหนื่อย น่าแปลกที่ป่าลั่นทมแห่งนี้แม้จะรกทึบแต่ก็ไม่เหมือนป่าทั่วไปที่เราผ่านมา แม้คนที่ผ่านมาครั้งแรกก็อาจตั้งข้อสังเกตได้ว่าน่าจะเกิดจากน้ำมือคน อย่างไรก็ตามมันเป็นเรื่องที่ในระยะนั้นไกลเกินสืบค้นถึงที่มา เรารับฟังแต่ตำนานระยะใกล้ที่รับรู้กันว่า สุดปลายป่าลั่นทมนั้น เป็นหน้าผาที่จารึกโศกนาฏกรรมแห่งความรักของหนุ่มสาวกระเหรี่ยงบางคู่ในอดีต มีตำนานที่ไกลออกไปกว่านั้นอีก คือตำนานที่ว่ากันว่า กษัตริย์มอญอพยพหนีการตามตีของพม่ามาสิ้นพระชนม์ที่ยอดภูแห่งนี้ ออกจากป่าลั่นทมจะเป็นป่าโปร่ง เมื่อเดินตามสันภูมาเรื่อยๆ เราข้ามห้วยซัมพาล่า 2 ครั้ง ซ้ายมือที่เห็นแผ่กว้างไปสุดสายตาคือทุ่งใหญ่นเรศวร นี่แหละครับ ทุ่งหญ้าสะวันนา ของไทยที่ริมห้วยซัมพาล่า(2) จุดนี้ เรามักจะพักกินข้าวกันที่นี่กันทุกชุด ในช่วงที่ไปจะแกกันมากจะปรากฎ ร่องรอยตัดไม้ไผ่,กองไฟเก่า และซากพืชซากสัตว์จากอาหารของพวกเรา จากนั้นเราก็เดินบนสันแล้วค่อยๆลง เมื่อลงมาจนถึงที่ราบแล้วก็ยัง …ยังไม่ถึงครับ สหาย เดินอีกสัก2 ชั่วโมงจนเห็นที่นานั่นแหละ ถึงแล้ว เมื่อไปจะแกครั้งแรก ผมเดินหน้าฝน เวลาลงภูก็ลงไปพร้อมๆกับสายน้ำ แล้วลุยข้ามห้วยลึกขนาดเอวอีกหลายครั้ง ขณะนั้นก็ประมาณ 5-6 โมงเย็นแล้ว เราเหนื่อยกันจนพูดไม่ออก สหายโชค ที่พาพวกเรามาครั้งนั้นบอกว่า " ป้ายหน้าก็จะแกแล้ว" สามทุ่มครับ กว่าจะถึง
จะแก เป็นบ้านที่มีทั้งบทบาทและสีสันในบรรดาหมู่บ้านชั้นในของเขตฐานที่มั่น เมื่อครั้งมีการจัดกำลังทหารหลักในเขตใต้ (911) หมวดแรกและหมวดเดียว ก็มาฝึกภาคสนามที่นี่, ปี2522 เมื่อฝ่ายรัฐบาลส่งกำลังทางเฮลิคอปเตอร์ขึ้นมาเพื่อปราบปราม ศึกพิทักษ์ฐานที่มั่นก็อุบัติขึ้นบริเวณที่นาของเองฉวยที่จะแกนี่เอง ที่นี่มีวัดในพระพุทธศาสนามีพระเณรอยู่ประมาณ 4-5 รูป นอกจากนี้ ยังมีการทำเหมืองแร่ มีถนนดินสำหรับรถขนแร่ผ่าน ซึ่งผู้ที่มาทำเหมืองแร่ที่นี้ก็คงเหมือนๆกับที่อื่นที่เป็นแนว(จำใจ)ร่วมของพวกเรา เส้นทางขนแร่ไปสุดทางที่ชายแดนพม่า อยู่ในพื้นที่ควบคุมของกระเหรี่ยงอิสระ มีนายอำเภอในขณะนั้นชื่อ"จอเต็ง" เราเคยอาศัยซื้อข้าวจากทางฝั่งโน้นในระยะที่ขาดแคลนข้าวในฐานที่มั่น และยังได้อาศัยซื้อของใช้จำเป็นจากในเมือง เช่น น้ำตาลทราย,น้ำปลา,ยารักษาโรคบางชนิด และอื่นๆ ที่ร้านค้าของเหมือง การไป"จะแก" ณ พ.ศ. นั้น ก็เหมือนไป Shopping Plazaนั่นแหละครับ จะแกจึงมีความสำคัญเป็นทั้งอู่ข้าว(ค้างปี)อู่น้ำ(ตาลทราย)ในยามขาดแคลน ของชาวแม่จันทะ-เกลอโบ ผู้ปฏิบัติงานที่จะแก นอกจากจะทำงานหลายด้านที่เหมือนๆกับหน่วยงานอื่นๆแล้ว ยังต้องทำงานด้าน "ต่างประเทศ"ด้วย เข้าใจว่า สหายโชติ คือผู้ดำรงตำแหน่ง "เอกอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็มประจำจะแก" ในเวลานั้น
จะเป็นเดือนใดก็ไม่แน่ใจ แต่เป็นช่วงก่อนหน้าฝนในปี 2522 ทางสำนักแม่จันทะและประชาชนบางส่วนขาดแคลนข้าว ในการนี้ได้ติดต่อซื้อมาจาก"กองสุเหล่" ฝั่งพม่า ผ่านทางจะแก เราได้จัดขบวนลำเลียงข้าวเข้าแม่จันทะ เพื่อให้มีความปลอดภัยและสะดวกรวดเร็วในการขนส่ง จึงได้ทำยุ้งพักข้าวไว้ในป่าริมห้วยซัมพาล่าดังกล่าว โดยจะขนมาพักไว้ที่จุดนี้ก่อนแล้วค่อยลำเลียงมาแม่จันทะอีกที

ขบวนส่วนใหญ่ได้ออกเดินทางไปแล้ว 2-3 วัน เหลือผมกับ "ท่านทูต"โชติ เพียง 2 คน ที่ตามไปสมทบ "ท่านทูต" จะเดินทางกลับไปทำงานส่วนผมไปสมทบกับขบวนลำเลียง เพื่อความคล่องตัวรับLoad ให้ได้มาก ผมไม่ได้เอาอะไรไปเลย มีเพียงโสร่ง1ตัว ผ้ายางปูรองนอน กระติก ปีดง และพร้า เล่มเดียว ส่วน ท่านทูต มีเพียงปืน M 16 และวิทยุ เนื่องจากกว่าจะเสร็จธุระจากแม่จันทะก็สายแล้ว เราตกลงกันว่าจะนอนกลางทางที่ซัมพาล่าจึงอ้อยอิ่งค่อยๆไต่ขึ้นภูก่องก๊อง แวะเก็บผลไม้ป่ากินกันมาตลอดทาง นั่งพักที่บริเวณป่าลั่นทม จำได้ว่านั่งฝอยกันในเรื่องสมบัติกษัตริย์มอญที่น่าจะฝังอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่งในเขตเรานี้แหละ กว่าจะถึงซัมพาล่าก็มืดค่ำด้วยประการฉะนี้ เรายังคุยเรื่องนี้กันต่อ น่าแปลกที่วันนั้นเราไม่ได้คุยกันในเรื่องงานปฏิวัติหรืออะไรที่เกี่ยวข้องเหมือนอย่างบรรยากาศการพูดคุยทั่วไปในฐานที่มั่นเลย ท่านทูตได้กรุณาเล่าประวัติศาสตร์ สามชนชาติที่เกี่ยวข้องกันอย่างลึกซึ้ง คือ พม่า-มอญ-กระเหรี่ยง เรายุติการคุยกันก็เกือบๆตีสอง จากเรื่องประวัติศาสตร์ปากเปล่า เรื่อยมาจนถึงเรื่องตำนานไพร แต่ที่จำได้แม่นมีอยู่ 2 เรื่อง คือเราเปิดวิทยุฟังและสามารถรับฟังสถานีทางกาญจนบุรีได้ รอบดึกทางสถานีเปิดเพลงสุนทราภรณ์ มีเพลงหนึ่งคือ เที่ยว..พเนจร…..ซอกซอน…พนาลัย….. ส่วนอีกเรื่องก็คือเราถกเถียงกันในประเด็นที่ว่า เสือกล้าไล่กระทิงหรือไม่

คืบก็ป่า ศอกก็ป่า เข้าป่าอย่าพูดเรื่องเสือ ทำ"ขึด"ป่าเข้า ก็ต้องเจออย่างนี้ละครับ เช้าวันนั้น เราไม่ได้หุงข้าวกินเพราะไม่ได้เตรียมข้าวสารมา เรากะว่าต้มน้ำกระติกเดียวชงกาแฟแล้วรีบออกเดินทางไปกินข้าวเช้าเอาตอนเพลที่จะแกเลย บริเวณที่เรานอนก็อยู่ใกล้ๆกับทางที่เขาใช้เดินกันนั่นเอง
เอาหัวไปทางทางเดิน เอาเท้าไปทางห้วย ที่ปลายเท้า มี กอไผ่เล็กๆอยู่ 1 กอ มีไผ่ขนาดข้อมือ ประมาณสัก8-9 ลำ เท่านั้น เลยข้ามห้วยไป จะเป็นป่าโปร่ง มีขอนไม้ล้มอยู่ถัดไป ขอนไม้นี้สูงประมาณ 70-80 ซม.
หลังจากผมดับไฟเรียบร้อยแล้ว ขณะที่เตรียมออกเดินทาง โดยผมนั่งอยู่บนผ้ายางส่วนท่านทูต กำลังเก็บของเข้าบาโลอยู่ ขณะนั้นผมรู้สึกว่าป่าเงียบมาก ไม่มีแม้แต่เสียงของแมลงต่างๆอย่างที่เคยมีเลย ผมกับสหายโชติมองหน้ากัน ยังไม่ทันที่จะเอ่ยอะไรก็มือเสียงดัง ครืนๆ พร้อมกับเสียงกิ่งไม้หักกราวมาเหมือนกับใครเอารถไฟทั้งขบวนมาวิ่งในป่า มองไปทางด้านลำห้วยเห็นเจ้ากระทิงโทนใหญ่ไม่น้อยกว่าควายที่เราใช้ไถนาควบเร็วจี๋ ข้ามห้วยมา เส้นทางที่มันพุ่งมาก็ที่นอนเรานั่นแหละ เพราะโล่งมากกว่าที่อื่น เราสองคนต่างก็พลิกตัวออกไปคนละข้าง ในเวลาเดียวกับที่เจ้ากระทิงโผนเข้าชนกอไผ่ที่ปลายเท้าเรา ไผ่ลำเท่าข้อมือทั้ง8-9ลำถูกมันชนหักสะบั้นโดยที่ตัวมันไม่ชะงักเลย มันใช้ขาหลังตะกุยครั้งเดียว ผ่านกลางเราสองคน โน่น ข้ามทางหายเข้าทุ่งใหญ่ไปเลย เราสองคนมองตามเห็นแค่แวบเดียวจริงๆ
ในห้วงเวลาแห่งความตกใจและตกตะลึงนี้ สิ่งแรกที่แวบก็คือทำไมมันพุ่งเข้าหาคน หรืออะไรไล่มันมา(วะ) ผมหันกลับไปมองที่ริมห้วย มาแล้วครับ หน้าใหญ่ยังกับกระด้ง เหลืองอร่ามมาเชียว มันเป็นเสือตัวใหญ่มากเท่าที่เคยเห็นมา ผมร้องตะโกนได้คำเดียวว่า "เสือ" เสียงก็ไม่รู้หายไปไหนหมด สหายโชติซึ่งขณะนี้สวมแว่นตาเรียบร้อยแล้ว ยก M16 ขึ้นแล้วลั่นไปหนึ่งนัด เจ้าเสือตัวนั้น เบรกพรืด เบรกพรืดจริงๆครับ ฝุ่นกระจาย มันอ้อมไปหลังขอนไม้ คำราม อ๊าว ลั่นป่า อานุภาพของเจ้าป่าจริงๆครับ เรี่ยวแรงไม่รู้หายไปไหนหมด มันคงโมโหที่เราไปขัดลาภปากมัน เลยคำรามอีกหลาย อ๊าว สหายโชติเล็งปืนนิ่ง ส่วนผมกำพร้าคู่ใจแน่น ในใจคิดว่า แล้วมันจะไหวไหมนี่ อย่างมากถ้ามันถึงตัวก็คงฟันมันได้สักแผล และมันก็คงคาบเราตวัดขึ้นหลังเข้าป่าทึบ ได้รายงานตัวกับท่านมาร์กซ์แน่
เสียงคำรามของมันเงียบหายไป แต่เรารู้ว่ามันอยู่หลังขอนไม้นั้นแหละ เราตัดสินใจขึ้นต้นไม้ทันที โดยผมถือปืนคุมเชิง ให้สหายเราขึ้นไปก่อน จากนั้นสหายก็คุมเชิงแล้วผมก็ปีนตาม พอขึ้นมาได้ก็ค่อยโล่งใจหน่อย คราวนี้อาการตกใจค่อยหายไปแล้วแต่เราก็ยังกลัวมันอยู่ดี เราอยู่กันอย่างนั้น4-5 ชั่วโมง เราไม่รู้ว่ามันไปหรือยังแต่กลิ่นสาบของมันลอยอยู่ในบริเวณนั้น
เอาละครับ ไอ้ 4-5 ชั่วโมงที่ว่า เราไม่ได้เอากระติกน้ำไปด้วยเพราะไม่มีเวลาหา ก็นั่งหิวน้ำกันอยู่บนนั้นนั่นเอง

ขณะที่ยังไม่กล้าตัดสินใจอย่างใด อัศวินม้าขาวก็โผล่มาช่วย เราได้ยินเสียงคนเดินมาเป็นกลุ่ม คนแรกที่เราเห็น ก็คือ สหายพล พร้อมปืนคู่ใจ เจ้าแมกนั่ม .44 คานเหวี่ยง เราร้องตะโกนบอกให้รู้กันว่า บริเวณนี้มีเสือ สหายพลเปลี่ยนเป็นท่าระวัง เรารีบลงจากต้นไม้ ขณะที่สหายเราช่วยกันกระจายกำลังอ้อมไปหลังขอนไม้ เท่าที่สำรวจดู สหายให้ความเห็นว่ามันคงไปนานแล้ว ปล่อยให้เราสองคนนั่งเท้งเต้งหิวน้ำกันบนต้นไม้ ขณะที่บันทึกเรื่องนี้ ผมยังนึกขำอยู่เลย สักครู่สหายศรัทธาก็มาพร้อมช้าง สหายเล่าว่า พอมาถึงบริเวณนี้เจ้าช้างของสำนักตัวนี้มันก็ไม่ยอมเดินเหมือนกัน

เรื่องการเผชิญหน้ากันทั้งสองฝ่าย ก็จบลงโดยไม่มีฝ่ายใดได้รับบาดเจ็บล้มตาย มีเพียงผมต้องเบิกผ้ายางใหม่เท่านั้น ส่วนกระติกตามเก็บได้ไม่บุบสลายแต่อย่างใด ระหว่างที่อยู่ตาก ผมมีเรื่องเฉียดเสือ 2 ครั้ง ทั้งสองครั้ง มีแต่มีดเล่มเดียว แต่ถึงมีปืนก็คงไม่กล้ายิงอยู่ดี อย่างมากก็ยิงขู่






เผาเทียนสงกรานต์_49

http://www.thaioctober.com/smf/index.php?topic=2302.210

Friday, January 26, 2007

Saturday, January 20, 2007

ส.สัมพัทธ์ กับ Moby Dick แห่งแม่จันทะ


ขอยืนยันว่าสหายสัมพัทธ์(ต่อไปใช้สรรพนามว่า ลุง)ทอดแหเก่งมาก
ที่กล้ายืนยันเพราะผมเคยปฎิบัติการหาอยู่หากินกับลุงหลายต่อหลายครั้ง เมื่อลุงมาอยู่แม่จันทะผมก็เป็น buddy ของลุง เราแบ่งงานกันทำตามความสามารถ การทอดแหนั้น ปกติถ้าทอดในแม่น้ำช่วงที่เป็นหาดกรวดหรือทราย น้ำตื้นและไม่มีหินก้อนใหญ่ๆใต้น้ำจะทอดง่าย พอตีนแหตกลงท้องแม่น้ำก็ค่อยๆสาวแหกลับ ก็จะได้ปลา แต่การทอดในทำเลอย่างนี้มักได้ปลาตัวไม่ใหญ่ ส่วนทำเลที่ปลาตัวใหญ่ๆชอบมาอยู่ก็คือใต้ก้อนหินที่เป็นวังน้ำลึก บางแห่งประมาณสองช่วงคนต่อกัน วิธีการก็คือทอดแหลงคลุมหินไว้แล้วค่อยๆดำลงไปปลดแหออกจากหิน ถ้าคลำไปเจอปลาที่ยังไม่ติดตาข่ายแห ก็ต้อนหรือจับให้เหงือกปลามาติดตาข่าย ปลาจะว่ายหนีไม่ได้ ค่อยๆปลดค่อยๆสาวจนกู้ขึ้นมาได้ทั้งหมด วิธีนี้นานหน่อยแต่ได้ปลามากและตัวใหญ่ๆทั้งนั้น ตรงนี้แหละครับที่เราเป็นbuddyกัน เพราะลุงแกว่ายน้ำไม่เป็นส่วนผมทอดแหไม่เป็น รวมกันเราอิ่ม แยกกันเราอด


วันที่พวกเราเผชิญหน้ากับเจ้าปลายักษ์ วันนั้นเราไม่ได้ตั้งใจจะไปหาปลาแต่ต้องไปขนหน่อต้นกล้วยที่ไร่ประชาชนมาปลูกหลังสำนัก มีลุงเปาะซ่า(ปลดแอก)นำสหายส่วนนึงเดินล่วงหน้าไปก่อนเพื่อขุดหน่อกล้วย ส่วนพวกเราเอาแพล่องลงตามน้ำไป ตั้งใจว่าจะขนหน่อกล้วยขึ้นแพมามากๆแล้วช่วยกันถ่อทวนน้ำกลับมาสำนัก เพราะขี้เกียจแบกเดินกลับมา ที่ไปกันวันนั้น ก็มี ลุง,ผม,หม่อนท่อน,แตงโม,ศรัทธา และสหายเดช อีกคนจำไม่ได้ เราล่องแพจนเกือบจะถึงจุดที่ผูกแพแล้วเดินตัดขึ้นไร่ตระว่องพู (ประชาชน-ขี้เกียจลบ) ดูเหมือนว่าจะเป็นลุงนี่แหละที่เสนอว่าเราหยุดทอดแหสำหรับมื้อกลางวันกันจะดีกว่าซึ่งขัดกับความเห็นของทุกคนที่เหลือคือ "ไม่ใช่ดีกว่าแต่ดีที่สุด"


ลุงแกเลือกหินไว้แล้ว เราบังคับแพให้ลอยเข้าใกล้จากนั้นแกก็บรรจงเหวี่ยงด้วยท่วงท่าที่งดงาม แหปากนั้นใหญ่ที่สุดในสำนัก มันกางแผ่ออกเป็นวงกลมโค้งลงครอบหินใต้น้ำก้อนนั้น เรารออีกพักนึงให้ตีนแหตกแนบหินตามกรรมวิธี ส่วนผมก็ปลดโสร่งออก ประจำสถานีรบที่ท้ายแพเตรียมหย่อนตัวลงน้ำ ขณะนั้นเอง พวกเราทุกคนได้ยินเสียงครืนๆเบาๆเหมือนเสียงฟ้าร้องมาไกลๆ เราชะงัก มองหน้ากัน เสียงครืนๆดังมาอีก เราก็ช่วยกันฟังอยู่พักนึง ทุกคนก็สรุปว่ามันดังมาจากใต้ก้อนหินที่เราทอดแหคลุมไว้นั่นเอง ส่วนผมเอง,ในขณะนั้นรู้สึกว่าน้ำในแม่จันมันหนาวยะเยือกชอบกล หันมาดูทุกคนก็เงียบกันหมด ถ้ามากับลุงสองคนอย่างที่เคยไปทอดมาผมก็คงไม่กล้าลงแน่ๆ แต่ก็เป็นไปตามคำพังเพยจีนที่ว่า "กำลังคนมาก ขวัญกล้าแข็ง"
ผมตัดสินใจดำลงไปดู เราลืมตาในน้ำมันก็ไม่ชัด แต่ก็ได้เห็นเจ้าปลากดคัง ความยาว ประมาณ 4 เมตร อย่างที่คนกระเหรี่ยงบอกว่าขนาดเด็กเจ็ดขวบมันน้อยไปด้วยซ้ำ เท่านั้นเองผมก็ตะลีตะลานขึ้นจากน้ำมารายงานทันที


น่าแปลกที่วันนั้น,ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่าจะต้องจับให้ได้ ทั้งๆที่ทุกคนในที่นั้น ไม่มีประสบการณ์จับปลาใหญ่ขนาดนี้ด้วยแหเลย เราไม่รู้แม้กระทั่งว่า ปลาเมื่ออยู่ในน้ำมันมีกำลังมหาศาลขนาดไหน เราทำตามความเคยชินที่จับปลาขนาดเล็กก็คือพยายามตะล่อมให้มันติดแห,ค่อยๆปลดแห แล้วลากขึ้นมาบนแพ จากนั้นถ้าดิ้นรนขัดขืนก็เอาถ่อนั่นแหละ ทุบหัวแบบปลาช่อนปลาดุกในตลาด เจ้าปลายักษ์ติดแหอยู่แล้วเพราะตัวมันใหญ่ เราค่อยๆพลิกตีนแหด้านที่มันไม่อยู่ ไม่สนใจปลาตัวเล็กๆที่ติดแหเลย ตอนนี้เจ้าปลายักษ์ดิ้นรนเต็มที่แล้ว แต่เนื่องจาแหติดหินอยู่ ลุงแกก็ยืนสาวเชือกแหอยู่บนแพกับสหายเดช(ด้วยเหตุผลเดียวกัน) แตงโม,หม่อนท่อน และศรัทธา ค่อยๆปลดแหจากอีกสามด้านที่เหลือ ผมในฐานะผู้บังคับบัญชา ก็จำใจต้องอยู่ด้านเจ้าปลายักษ์
ขณะที่เราลงดำใต้น้ำ แรงดิ้นรนมหาศาลมันทำให้เส้นตาข่ายแหที่เป็นไนล่อนสั่นเป็นเสียงที่เราฟังในใต้น้ำน่ากลัวมากแต่เราก็ช่วยกันปลดออกจนเหลือด้านผมด้านเดียว และเหลือแง่หินใหญ่อยู่แง่เดียวเท่านั้น ตอนนี้ทุกคนนอกจากผมขึ้นมาบนแพกันหมดแล้วเพื่อช่วยกันสาวเชือกแห ลุงร้องสั่งให้ผมปลดแหจากแง่สุดท้าย เท่านั้นเอง แรงกระชากครั้งแรกหัวแพหลุดจากหินที่ขัดไว้ ครั้งที่สองแพพลิกคว่ำลงทันที่ แต่เชือกแหไม่หลุดจากมือลุงเพราะแก "ตราสัง" ไว้เสียแน่น แกปีนขึ้นแพได้ก่อน นั่งบนหัวแพชักคะเย่อกับเจ้าปลายักษ์เพียงคนเดียว ปากก็ร้องสั่งบัญชาการให้พวกเรารีบกลับขึ้นแพช่วยกันสาวเชือก


ภาพที่ประทับใจเกิดขึ้นตรงนั้นแหละ ลุงเหมือนกัปตัน อาฮับ เผชิญหน้ากับเจ้า Moby Dick เลย เราต้องว่ายน้ำตามแพเพราะเจ้าปลายักษ์ขณะนี้ลากแพและลุงมากลางแม่น้ำแล้ว พอทยอยกันขึ้นมาได้ ก็เบียดๆกันบนนั้นแหละ ช่วยกัน ฮุยเลฮุย จนหัวเจ้าปลายักษ์มาเกยแพ ความใหญ่ของมันทำให้เราตกตะลึงเสียงเอะอะเอ็ดตะโรฟังไม่ได้ศัพท์ แต่ที่จำแม่นก็คือสหายเดชที่พลัดตกจากแพแล้วตะเกียกตะกายขึ้นไปยืนบนหินกลางน้ำก้อนหนึ่ง, ด้วยความตื่นเต้น, แกชี้ไปที่ปลาแล้วร้องตะโกนว่า “ จั๊ดก๋านมันเลยเฮ้ย”
เราลากจนหัวมันมาเกยแพ ดูจากสถานการณ์ทั้งสองฝ่ายแล้วก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากทำให้มันหมดกำลังลง จากประสบการณ์ในภายหลังเราจึงรู้ว่าถ้าเราออกแรง(ที่ใกล้หมด)แข็งใจลากขึ้นมาอีกนิดเดียว มันก็สิ้นฤทธิ์ แต่ในตอนนั้นเราตัดสินใจใช้ไม้ถ่อแพที่เหลือขัดติดแพอยู่อันเดียวทุบหัวมัน ซึ่งทำให้การชักคะเย่อต้องยืดเยื้อออกไปอีกเพราะคนทุบทุบไม่ถนัด กลัวพลาดไปโดนหัวสหายเรา มันชุลมุนยุ่งเหยิงกันไปหมด


อย่างไรก็ตาม สุดท้ายเราก็สามารถลากขึ้นแพมาได้ เอากลับสำนัก จากนั้น กระบวนการตั้งแต่เอาขึ้นจากแพไปจนถึงโรงครัวสุดท้ายที่หม้อแกง ผมก็ไม่ทราบแล้ว มันก็กลายมาเป็นความทรงจำเรื่องเจ้าปลายักษ์กับลุง ที่จำได้จนทุกวันนี้ครับ


___________________________

เคยลงใน http://www.thaioctober.com/ เมื่อ 2 เมษายน 2005, โดย Chingkang Mts.




Tuesday, November 07, 2006

พวกเราเป็น ทปท. มิเคยระย่อต่องาน


พวกเราเป็น ทปท มิเคยระย่อต่องาน
พวกเราเป็นทปท มิเคยระย่อต่องาน
ชีวิตทปท มีแต่สุขใจ ไม่หวั่นไหวแม้ภัยข้างหน้า
งานใหญ่กำลังทายท้า (ช่ะ) ทปท จงอย่ารอช้า(ช่ะ)
เอาบ่าแบกรับมา เข้ามุ่งฟันฝ่าจนประชาได้ชัย
(สร้อย)

งานใดที่พรรคมอบให้ พวกเราเต็มใจไม่เคยระอา
ชีวิตนักรบที่อยู่แนวหน้า ชีวิตนักรบที่อยู่แนวหน้า
ประกาศท้า สงครามประชาชน ตามตีศัตรูทุกหน(ช่ะ)
ไม่ว่าตากแดดกรำฝน (ช่ะ) จะกี่ปีก็สู้ทน ทปท ไม่บ่นสู้จนสุดใจ
(สร้อย)

ชีวิตลำเลียงเราไม่เกี่ยงงอน ชีวิตลำเลียงเราไม่เกี่ยงงอน
ไม่เดือดร้อนแม้งานจะหนัก เหนื่อยหน่อยเราก็หยุดพัก (ช่ะ)
หนักหน่อยก็ทำด้วยใจรัก(ช่ะ)
ทปท ต่างยึดหลัก ที่ใดงานหนักเราจะไปเราจะไป
(สร้อย)

ชีวิตทำนาทำไร่ก็ดี ชีวิตทำนาทำไร่ก็ดี
ต่างสุขีเมื่อมีผลผลิต ทปทจะได้อิ่มสักนิด...
(ยังไม่สามารถติดตามท่อนนี้มาได้ ).......
(สร้อย)

ชีวิตพลาฯนั้นไม่น่ากลัว ชีวิตพลาฯนั้นไม่น่ากลัว
ถึงปวดหัวก็เพียงนิดหน่อย งานหนักเราก็ไม่ถอย(ช่ะ)
ทปทจะได้ใช้สอย (ช่ะ) ไม่มัวมาสำออย
รับใช้สหายหน่อยเราก็ดีใจ
(สร้อย)

เป็นหมอประชานี้น่าชื่นชม เป็นหมอประชานี้น่าชื่นชม
สหายล้ม ก็เข้าตามติด เข้าไปดูแลใกล้ชิด (ช่ะ)
ถึงนอนดึกก็ไม่บ่นสักนิด (ช่ะ)
ตั้งหน้าถือภาษิต ถ้าคนไข้หายสนิทใจหมอก็สบาย
(สร้อย)

ชีวิตทปท นี้ก็สุขใจ ชีวิตทปท นี้ก็สุขใจ
มีความหมายแม้งานเย็บจักร หรือผู้ที่อยู่สำนัก (ช่ะ)
งานเทคนิคก็ยังคึกคัก (ช่ะ) พวกเราต่างยึดหลัก
ที่ใดงานหนักเราจะไปเราจะไป
(สร้อย)

พวกเราเป็นทปท มิเคยระย่อต่องาน
พวกเราเป็นทปท มิเคยระย่อต่องาน
ถึงจะลำบากสักเพียงใด
เราก็เต็มใจที่รับใช้ประชา
เราก็เต็มใจที่รับใช้ประชา

_________________

(เพลงนี้ ส.โชติ ร่วมกับ ส.ช่วง แต่งขึ้นภายหลัง จบหลักสูตร รร.การเมืองการทหาร ที่ 401ใช้ทำนองเพลง “รำวงชาวทะเล” ของวงสุนทราภรณ์ โดยดัดแปลงทำนองเล็กน้อย เพลงนี้มีความมุ่งหมายที่จะชี้ให้เห็นความสำคัญที่ทุกๆงานมีอยู่เท่ากันเพื่อให้เข้ากับบรรยากาศที่ทุกคนจบการศึกษาแล้วและกำลังรอให้จัดตั้งจัดสรรลงในงานด้านต่างๆอยู่)

Tuesday, October 17, 2006

พาเนเต๊อะ2549















รูป พาเนเต๊อะ เมื่อครั้งงานทำบุญให้วีรชนเขตตาก สงกรานต์ 2549

พาเนเต๊อะ ปราชญ์ชุมชนแห่งลุ่มแม่จัน

พาเนเต๊อะ ปราชญ์ชุมชนแห่งลุ่มแม่จัน

โดย “ นามปากกา “

จะว่าไปแล้ว พวกเราชาวตากก็รู้จักพากันเป็นอย่างดี พาเข้ามาในชีวิตพวกเรา (หรือเราเข้าไปในชีวิตของพา) นับจนถึงวันนี้ก็หลายสิบปี เราอยากจะขออนุญาตเขียนถึงพาในแง่มุมต่างๆ ตามประสบการณ์ของตัวเอง หากท่านใดต้องการจะเพิ่มเติม ก็ขอเชิญส่งเรื่องเข้ามาได้
ชื่อของพาคือ เต๊อะ คำนี้คือคำว่า (อา) ทิตย์ ที่แปลว่า ตะวัน หรือวันอาทิตย์ก็ได้ คำนี้ไม่ได้ออกเสียงเป็นสระเออะ อย่างที่เราคนไทยชอบเรียกกันอยู่ แต่เป็นเสียงสระผสม “อะ กับ อึ” (ถ้าเป็นบ้านเกริงโบ) หรือ “เอาะกับอึ” (ถ้าเป็นบ้านแม่จันทะ) แต่ไม่อาจเขียนออกมาให้ตรงเสียงได้
ส่วน “เน” เป็นคำเรียกคนที่เคยบวชเป็นพระมาแล้ว ในภาษาไทย คือ “ทิด” นั่นเอง คนกะเหรี่ยงเองจะเรียกพาว่า “คว่าเน”


พาเป็นชาวไร่ชาวนา
ชาวกะเหรี่ยงเป็นชาวไร่ชาวนา เป็นคนใช้แรง พามีร่างกายแข็งแรงบึกบึน มีกล้ามเป็นมัดๆ พาไม่เคยแพ้ใครในเรื่องหาอยู่หากิน ทักษะอะไรที่ชาวกะเหรี่ยงมี พามีอยู่ครบถ้วน จะฟันไร่ที่ไหน จะปลูกข้าวพันธุ์อะไร จะปลูกต้นอะไรเพิ่ม หาน้ำผึ้ง ผลหมากรากไม้ หาปลา เลาะป่า ไม่มีอะไรที่พาทำไม่เป็น ไม่มีอะไรที่พาไม่รู้ พาปลูกบ้าน สานกระบุง ตะกร้า ทำกับข้าว งานทุกอย่างเสร็จเร็ว และเรียบร้อย อยู่กับพาไม่ต้องกลัวอด พาสรรหาของดี ของแปลก ของอร่อยมาเลี้ยงเราคนเมืองผู้อ่อนแอ
นอกจากจะอิ่มท้องแล้ว พาก็ยังสอนถึงวิถีชีวิต การทำไร่ การปรุงอาหาร อีกมากมาย ตรงนี้ขอแทรกความเห็นว่า พวกเราน่าจะลองรวบรวมความรู้จากพี่น้องกระเหรี่ยง ยาง และม้ง เขียนเรื่องแนว “how to” เกี่ยวกับการดำรงชีวิตในป่ากัน รับรองสนุกแน่


พาเป็นนายช่าง นักประดิษฐ์
นอกจากพาจะทำของธรรมดาๆ ประเภท ด้ามมีด ปลอกมีด ท่อประปา ครกกระเดื่องในบ้านแล้ว พาก็ยังมีผลงานทำครกน้ำ ที่ห้วยเกริงโบ ซึ่งทำให้ทั้งหมู่บ้านได้อาศัย ที่เก๋สุดคือ พาทำ “หนาเด่ย” พิณทำจากไม้และเส้นลวด หน้าตาเหมือนพิณในละครฉากราชสำนักเมืองพม่า พิณของพามีหลายทรง หลายแบบ เราเองไม่มีความรู้เรื่องดนตรีอะไร รู้แต่ว่า เสียงของพิณทำมือ ใส กังวาน ถ่ายทอดท่วงทำนองดนตรีของชาวกะเหรี่ยงมาสู่โสตประสาทได้เต็มที่ ฟังทีไรก็หัวใจคับอกทีนั้น


พาเป็นศิลปิน : นักดนตรี นักร้อง นักแต่งเพลง และนาฏศิลป์
ยามคืนเดือนหงาย พานั่งดีดพิณ ร้องเพลงที่พาแต่งเอง บรรยากาศแห่งความสุขในค่ำคืนเช่นนั้น ยากจะบรรยาย ใหม่ๆ ตัวเราเองก็รู้สึกแปลกๆ ว่าคนที่นั่งดีดพิณ ร้องเพลงที่แสนไพเราะ เป็นคนเดียวกับชาวไร่ที่อาบเหงื่ออยู่ในไร่เมื่อตอนกลางวัน เพราะในความรับรู้ของคนเมืองแล้ว ศิลปินช่างห่างไกลจากดินทรายเหลือเกิน ที่สำคัญคือ พายังช่วยกำกับดูแลคณะนาฏศิลป์ของหมู่บ้าน ทั้งแต่งเพลง เล่นดนตรี คิดท่าร่ายรำต่างๆ พาเคยเล่าให้ฟังว่า การทำงานศิลปะดนตรี(รวมทั้งการเขียนหนังสือ)ของพาถูกชาวบ้านที่ไม่เข้าใจบางคนมาพูดถากถางว่าจะเล่นดนตรีร้องเพลงไปทำไม ร่ายรำไปทำไม ทำแล้วจะช่วยปฏิวัติได้หรือ จะปฏิวัติก็ต้องถือปืน ต้องรบถึงจะเข้าท่า แต่พาเองไม่เคยย่อท้อ เพราะพาเข้าใจถึงอำนาจแห่งศิลปะว่าจะสามารถปลุกเร้า และปลอบประโลมจิตใจของนักปฏิวัติได้


พาเป็นปัญญาชน นักคิด นักเขียน
เมื่อได้รับมอบหมายให้ไปทำวารสาร “ตะว่องพู้” (ประชาชน) เราก็ถูกส่งให้ไปหาพาที่บ้านเกริงโบ ตอนนั้นตัวเราเองพูดภาษากะเหรี่ยงได้คำสองคำ เพราะอยู่แต่สำนักมาตลอด ขั้นตอนการทำงานจึงต้องเริ่มจากการเรียนภาษากะเหรี่ยงทั้งภาษาเพื่อจะบรรลุไปสู่การเขียนบทความโดยใช้ตัวอักษรมอญ แม้ว่าเราจะเคยเรียนภาษามอญ (ตัวอักษรมอญ) มาแล้ว แต่เรื่องการใช้ตัวอักษรมอญมาเขียนภาษากะเหรี่ยงเป็นเรื่องของภาษากะเหรี่ยงแท้ๆ ไม่ใช่เรื่องของภาษามอญอีกต่อไป พาจึงเป็นครูสอนภาษา (ซึ่งก็คือเสียงพูด) และสอนระบบการเขียน (ภาษาเขียน) ด้วย ถึงแม้เราทั้งเรียนทั้งเขียนบทความกันตามสภาพ คือในเถียงนาท้ายไร่บ้าง บ้านเล็กริมห้วยบ้าง แต่บรรยากาศในการทำงานของเรา ก็เข้มข้นเป็นวิชาการเชียวละ พาตอบทุกคำถามอย่างสั้น ตรง ชัดเจน และลื่นไหล ไม่เคยติดขัด คลุมเครือ
จริงอยู่ว่าพาเคยบวชเป็นพระ (มอญ) มาก่อน จึงเชี่ยวชาญการเขียนตัวอักษรมอญมาก แต่ที่เป็นหัวใจสำคัญก็คือพาเข้าใจภาษากะเหรี่ยงของตัวเองทะลุปรุโปร่งต่างหาก
พาจะนั่งฟังสิ่งที่เรา(ปฏิวัติ/จัดตั้ง)อยากจะถ่ายทอดก่อน แล้วพาจึงเรียบเรียง พร้อมเสนอแนวคิด ข้อเสนอแนะ พร้อมสรรพ ตัวเราเองก็ทำแค่เขียนออกมาตามคำพูดของพาเท่านั้น แล้วก็ไปให้พาตรวจแก้อีกที (มีอีกอย่างที่อยากจะสารภาพคือ ภาษากะเหรี่ยงคำไหนที่เราฟังไม่ออกสักที เราจะมีทางลัดคือ ไปให้พาเขียนให้ดู ฮ่า ฮ่า)
วารสารตะว่องพู้ จึงเป็นผลงานของพาไป 90% ที่เหลือจึงจะเป็นผลงานของร่างทรง (คือเรา)


พาในฐานะตัวแทนชนชาติ
เมื่อปฏิวัติถอนตัวจากฐานที่มั่นจังหวัดตากแล้ว คนม้ง กะเหรี่ยง ยาง ก็ต้องกลับไปสู่อำนาจรัฐเดิมอีกครั้ง ชะตากรรมที่หนักหนาสาหัส คือ พวกเขาจะต้องถูกย้ายลงไปอยู่ศูนย์อพยพข้างล่างหรือไม่ โชคดีที่ยังมีคน(ส่วนน้อย)เห็นว่าพวกเขารักษาป่าไม้ ไม่ใช่ทำลายป่า แต่กว่าจะเข้าใจ คนยาง กะเหรี่ยงก็ต้องอธิบายทำความเข้าใจกันยืดยาว ทั้งๆ ที่ก็เห็นอยู่ว่าบ้านเขาอยู่ในป่ามาเป็นร้อยๆ ปี ภาระหนักอันนี้ พาก็ช่วยแบกรับอย่างไม่ทดท้อ ด้วยความช่วยเหลือจากคนป่าไม้ที่มีคุณธรรมและปัญญาบางคน พาลงไปกรุงเทพ ไปกรมป่าไม้และอื่นๆ ลงไปบอกเล่าวิถีชีวิตกะเหรี่ยงด้วยท่าทีสงบเรียบร้อย นิ่งเย็น ต้องบอกว่าพาเอาตัวเป็นๆ มาแสดงให้เห็นว่า คนกะเหรี่ยงคือใคร เป็นอย่างไร


พาเป็นผู้นำด้านคุณธรรมจริยธรรม
เราอยากจะขอเริ่มที่บุคลิกส่วนตัวและชีวิตส่วนตัวก่อน พาทำงานหนักตลอดชีวิต มือเท้าด้านหนา แต่ทุกคนที่ได้พบจะต้องประทับใจกับกิริยามารยาทที่เรียบร้อยนุ่มนวล ให้เกียรติผู้อื่น และอ่อนน้อมถ่อมตน พาไม่เคยเอะอะเสียงดัง ไม่ด่าทอ ไม่โอ้อวด ไม่เสียดสีให้ร้ายใคร คำว่า “สมบัติผู้ดี” แปลว่าอะไร ก็คงต้องมาดูที่บุคลิกของชาวป่าชาวดอยคนนี้
พามีชีวิตครอบครัวที่น่ารักเป็นที่สุด พายกย่องให้เกียรติ ตลอดจนดูแล มูมาตลอดหลายสิบปี เมื่อสมัยพายังหนุ่มแน่น มูอ่อนแอ ขี้โรค ดูภายนอกแล้ว ช่างไม่สมกันเสียเลย แต่ถ้าหากได้มีโอกาสนั่งอยู่ในบ้านหลังน้อย จะรู้สึกได้ว่านอกจากจุดอ่อนด้อยเรื่องสุขภาพแล้ว มูเป็นคนที่ดีพร้อมทุกประการ ฉลาด นุ่มนวล มีเสน่ห์ น่าแปลกใจจริงๆ ที่ผู้หญิงผอมแห้งคนนี้ จะมีใบหน้าที่ยิ้มแย้มอยู่ทุกคราว ที่สำคัญคือเสียงพูดที่มีท่วงทำนองน่าฟังและมีพลัง
พาและมูฟันฝ่าอุปสรรคในชีวิตด้วยกันมาหลายครั้ง หลายหน ลูกป่วยตายไปคนแล้วคนเล่า มีคนเดียวที่ได้เลี้ยงมาจนเป็นหนุ่มน้อยน่ารัก แต่ก็มาจากไปด้วยเหตุที่ไม่น่าเชื่อยิ่งกว่านิยาย ด้วยสายใยแห่งความรักความผูกพัน พากับมูจึงเป็นที่พึ่งของกันและกัน ผ่านความโหดร้ายของชีวิตมาได้อย่างสง่างาม
ที่ร่ายยาวมาทั้งหมดนี้ เพียงแต่จะบอกว่า ชีวิตส่วนตัวของพา สะอาดใส และก็ไม่ได้ได้เปรียบใครในแง่ที่ว่า ทุกข์แสนสาหัสก็ไม่เคยยกเว้นพา (เหมือนเช่นที่ไม่เคยเว้นใคร) มีภรรยาที่ต้องคอยพยาบาล ลูกตายจนหมด ลูกปฏิวัติก็กลับบ้านไปแล้ว อนาคตชนชาติก็ริบหรี่เต็มที แต่พาก็ยังสดชื่น หนักแน่น มีสตินำพาชีวิตมาได้โดยตลอด
เมื่อก่อนนี้เราเคยคิดว่าพาเป็นพวกถือฤษี จึงเคร่งครัดในเรื่อง เหล้า ฝิ่น หรือการพนัน พาเองก็ไว้ผมมวย นุ่งผ้าไม่เย็บติดกัน แต่นานวันที่ได้รู้จักพา ก็เริ่มเข้าใจว่า พาประพฤติดี ก็เพราะมัน “ดี” พาไม่เคยยึดติดกับยี่ห้อ หรือป้ายชื่อ หรือสมมติ ที่แปะเอาไว้ ประเด็นของฤษีนั้นเป็นเรื่องของวัฒนธรรมชนชาติมากกว่าที่จะเป็นศาสนาหรือการเมือง
มาถึงวันนี้ ถ้าเราไปบ้านพา พาก็ยังชูธงต่อต้านอบายมุขทั้งปวงอยู่เหมือนเดิม ถึงแม้จะมีท่าทีสงบนุ่มนวล แต่พาไม่เคยประนีประนอมให้เหล้า ยา การพนันเป็นสิ่งยอมรับได้(เหมือนเราคนไทย) และแน่นอนที่ว่า การทำดีนั้นไม่เคยจะราบรื่น ชาวบ้านเองก็ใช่ว่าจะทำได้ง่ายๆ หรือเหนียวแน่นไม่คลอนแคลนอย่างพา ซ้ำร้ายหลายคนก็ยังมองว่าเป็นเรื่องของคนแก่ที่แสนจะเชยไม่เข้ากับยุคโลกาภิวัตน์เอาเสียเลย
เมื่อไปเยือนพาครั้งล่าสุดนี้เอง ที่เราเพิ่งจะได้รู้ว่าโดยเนื้อแท้แล้ว พาเป็นพุทธศาสนิกชน พามีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจมาโดยตลอด แน่นอนว่า พาคอยดูแลพระเณรที่วัดด้วยแรงกายอย่างเต็มที่ หากจะมีเงินสักน้อยนิดที่ลูกหลานคนเมืองเอื้อเฟื้อ พาก็ถือเป็นโอกาสไปทำบุญช่วยให้ลูกหลานได้บุญไปด้วยเสียอีก
อยากจะเล่าถึงรูปธรรมการแก้ปัญหาของพาเกี่ยวกับการที่มีใครๆ ไประเบิดปลา หรือเบื่อปลากันจนปลาแทบหมดลำห้วย พาก็เลยประกาศให้ ห้วยเกริงโบบริเวณที่ไหลผ่านหมู่บ้านเป็นเขตอภัยทาน ห้ามจับสัตว์น้ำ ใครอยากจับปลาก็ต้องไปให้ไกลหมู่บ้าน ปรากฏว่าได้ผลชะงัด ตอนนี้หน้าหมู่บ้านมีปลาเยอะมาก(น่าจับจริงๆ) เป็นเขตอนุรักษ์สัตว์น้ำที่เป็นหลักประกันว่า ลูกหลานจะไม่ต้องอดอยากกัน เพราะการใช้ทรัพยากรอย่างไร้สติของคนรุ่นปัจจุบัน
สิ่งที่บอกความเป็นตัวตนของพาที่ดีมากอย่างหนึ่ง ก็คือบ้านของพา
บ้านพาที่เกริงโบมีลักษณะพิเศษคือร่มรื่นด้วยพืชพรรณนานา มีทั้งสมุนไพร ยาป่า ผักป่าหน้าตาแปลกๆ (แต่อร่อย) ที่พาเอามาปลูก มีแปลงผัก กล้วย อ้อย สารพัด ไม่อดอยาก มีรางน้ำประปารอบที่ น้ำที่ใช้ล้างจานแล้ว ก็กลับลงไปรดผักอีก ไม่น่าเชื่อว่าเจ้าของบ้านจะเป็นชายชราวัย 70 ปี ที่มีทั้งภาระส่วนตัว และภาระส่วนรวมล้นมือ

ความที่อยากจะสรุปก็คือ พาเป็นผู้เจริญด้วยคุณธรรมที่สำคัญยิ่งคือ ความองอาจกล้าหาญในการพึ่งตนเองในทุกมิติ และอย่างถึงที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการกินอยู่ หรือความคิดความอ่าน เมื่อพึ่งตนเองได้ จึงสามารถเป็นที่พึ่งของสังคมและชุมชน ไม่ว่าทุกข์ร้อนจะโหมกระหน่ำซัดมาอย่างไร ดวงตะวัน “เต๊อะ” ดวงนี้ก็ยังหยัดยืนเปล่งประกายจากเนื้อแท้ของความเป็นคน เป็นตัวแทนของพี่น้องชาวกะเหรี่ยง-ยาง ชาวป่าดงดอย ที่ชาวเมืองต้องคารวะในปัญญาและความดี ที่อยู่เหนือชนชาติ ชนชั้น ทุน เกียรติ หรือสิ่งมายาทั้งปวง


" นามปากกา " มหาบัณฑิตทางอักษรศาสตร์ ผู้จัดทำวารสาร " ตะว่องพู้ " เมื่อ พ.ศ.นั้น เป็นเจ้าของเส้นทางสู่ "ปทานุกรมภาษากระเหรี่ยง " ในเวลาต่อมา


เพลง ถนนธงชัย

เพลง ถนนธงชัย
(จังหวะ slow tango)

เสียง ปืนประชาดังก้อง ได้ปลุกพี่น้องทั้งเพื่อนผองที่นองน้ำตา
จากเหตุการณ์หกตุลา เข้าร่วมสงครามประชา
ด้วยศรัทธาในอุดมการณ์

สาย ธารเลือดไทยดลจิตเตือนให้เราคิดปืนต่อปืนคือคำสาบาน
จึงกล่าวคำปฏิญาณ จารึกไว้ในดวงมาลย์
จักสานงานจนบรรลุชัย

โอ้ ดาวแดงทอแสงสกาว ธงแดงโบกพลิ้วพร่างพราว
สกาวเหนือฟ้าไทย เราเหมือนได้ชุบชีพใหม่
บนถนนธงชัย สู่ความเป็นไท นิรันดร

แม้ จะเนิ่นนานวันหนึ่ง เราก็ต้องถึงซึ่งกรุงเทพมหานคร
คืนสู่ถิ่นฐานมารดร ท่ามกลางเสียงชัยให้พร
สร้างอนุสรณ์ปฏิวัติชาติไทย


( เพลงนี้ วิสูตร์ ทิพย์ธาร (ทิพย์วิวัฒน์พจนา) หรือ ส.โชติ แต่งเนื้อร้องขึ้นหลังจากได้ยิน ส.สากล แต่งท่อนแยกไว้ว่า “ *โอ้ดาวแดงทอแสงสกาว ธงแดงโบกพลิ้วพร่างพราว” จึงได้แต่งส่วนที่เหลือทั้งหมด ที่เขตงาน “จะแก”
จังหวัดกาญจนบุรี ในช่วงที่กองทหารรวมทั้งกองกำลังหลัก ๙๑๑ ไปที่นั่น ในราวปลายปี ๒๕๒๒ ต่อต้นปี ๒๕๒๓ ส่วนทำนอง เป็นของครูล้วน ควันธรรม จากเพลง .( ? ).ในช่วงเดียวกันได้แต่งเพลงมาร์ช กองกำลังหลัก ซึ่งมีเนื้อร้องและทำนองครบถ้วน แต่ปัจจุบัน เนื้อร้องได้เลือนไปตามกาลเวลา เท่าที่สอบถาม ไม่มีใครจำได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ผู้แต่งก็จำได้แต่ทำนองเท่านั้น จะพยายามทำเป็นโน๊ตเพลงส่งให้ในภายหลัง )

Monday, October 16, 2006

เรื่อง ใครว่า ทปท. ไม่มีทัพเรือ

1.
สำนัก 101 เก่า อยู่ริมแม่จัน ฝั่งตรงข้ามคือบ้านประชาชน แม่จันทะ การเดินทางจากสำนักจังหวัดไปเขตงาน ต.17 ในจังหวัดอุทัยธานีและสุพรรณบุรีนั้น มีเส้นทางที่ใช้กันโดยทั่วไป 2 เส้นทาง เส้นทางแรก ออกจากสำนัก หันหลังให้แม่จันมุ่งไปทิศตะวันออก ข้ามแม่กลองแถวๆบ้าน บาเก่(ออกเสียงยาก-ไม่ค่อยถูก) จากนั้นเดินทางราบไปจนถึงบ้าน กากะต่า ขึ้นภูม้ง ไปบ้านทุ่งนาน้อย ซึ่งมีพี่น้องม้งเพียง 3 หมู่บ้านในเขตใต้ นอนที่นี่หนึ่งคืน,จากบ้านทุ่งนาน้อย,นอนกลางทางอีกหนึ่งคืน ก็ถึงที่หมาย
เส้นทางหลัง ออกจากสำนัก ข้ามแม่จันทันที ผ่านบ้านแม่จันทะ เดินไปสักพักใหญ่ จะเป็นทางแยก เลี้ยวขวา ไปอีกพอสมควรจะขึ้นภูก่องก๊อง ไปจะแก แต่เราจะเลี้ยวซ้าย ตอนนี้ทางจะมุ่งลงใต้เลย สบแม่จัน-แม่กลอง มา จะลัดเลาะไปตามป่าไผ่ ช่วงนี้ยังไม่ขึ้นภูสูง ใช้เวลาเดินหนึ่งวันเต็ม เราจะมาถึงริมฝั่งแม่กลอง(ตอนนี้เหลือสายเดียวแล้ว) เย็นมากแล้วคืนนี้นอนที่นี่ รุ่งขึ้นเช้าพอข้ามแม่กลองเรียบร้อย ที่ยืนตระหง่านขวางหน้าเราอยู่ก็คือน้ำตกห้วยน้ำเขียว เราจะต้องปีนทวนน้ำตกขึ้นไปจนถึงยอด นอนในไร่เก่าหนึ่งคืน รุ่งขึ้นเย็นๆก็ถึง สำนัก ต.17 สิริรวม ก็ 3 วันเท่ากัน
น้ำตกแห่งนี้สูงมาก เกิดจากน้ำในลำห้วยน้ำเขียวที่ไหลมาลงแม่กลอง แต่ไม่ได้เป็นน้ำตกที่ช่วงของน้ำ ตกลงมาสูงเหมือน ทิลอซู แต่ตกลงมาตามลาดเขาเป็นช่วงสั้นๆซึ่งในระยะเวลาที่ยาวนานมาก ทำให้เกิดหินปูนงอกสะสมเป็นแอ่งรับน้ำแอ่งเล็กๆ คล้ายขั้นบันไดจำนวนหลายร้อยขั้น ซึ่งงดงามไปอีกแบบ และด้วยสภาพแอ่งหินปูนที่มีจำนวนชั้นมากมายเช่นนี้ ได้เกิดความแปลกมหัศจรรย์ขึ้น เมื่อเราไปยืนอยู่ถูกที่และถูกเวลา ถ้าเรามองจากด้านล่างริมฝั่งแม่กลองขึ้นไปจะเห็นน้ำตกทั้งเส้นไปจนจรดยอดภู เป็นสีชมพู และเมื่อมองจากยอดภู โดยให้จุดสุดสายตาอยู่ที่น้ำแม่กลองด้านล่างแล้ว เราจะเห็นน้ำตกทั้งเส้นเป็นสีฟ้า จากจุดที่เล่ามานี้ ถ้าเราเดินเลาะเลียบฝั่งแม่กลองตามน้ำลงไป(ผมไปไม่ถึง) แม่น้ำแม่กลองที่รองรับน้ำจากน้ำตกมาแล้วหลายสิบแห่งคราวนี้กลายเป็นน้ำตกเสียเอง นั่นคือ “ น้ำโจน” อันลือชื่อที่ทุกท่านคงจะจำชื่อนี้ได้
น่าจะเป็นปี2520 ที่ทางราชการดำริจะสร้างเขื่อนขึ้นที่นี่ ในนาม เขื่อนน้ำโจน เพื่อการนี้ ทางราชการได้ส่งกองร้อยลาดตระเวนระยะไกล ของกองทัพภาคที่ 1 มาลาดตระเวนกรุยทางเพื่อจะสำรวจในระยะต่อไป ทางฝ่ายภูเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะเมื่อลากเส้นตามเส้นระดับความสูงในแผนที่แล้ว เมื่อเขื่อนสร้างเสร็จระดับน้ำจะท่วมฐานที่มั่นถึง70เปอร์เซ็นต์ มีภูม้งและภูก่องก๊อง เป็นเกาะอยู่กลางน้ำ
2.
จะเป็นวันใด,เวลาใด ผมจำไม่ได้แล้ว,และจะเป็นสหายรุ่งหรือสหายโรจน์ หรือทั้งคู่ก็จำไม่ได้อีกเหมือนกัน แต่จำได้ว่าเมื่อสหายผู้รับผิดชอบเขตงานตะวันออกเดินทางมาถึงสำนัก สักครู่ทางจัดตั้งได้แจ้งให้เราทราบว่าขณะที่สหายเดินมาที่จุดข้ามแม่กลองได้พบเห็นเจ้าหน้าที่ราชการเดินทางด้วยเรือยางติดเครื่องมาถึงจุดที่เราใช้ข้าม แต่เป็นหน่วยไหน,มีกำลังเท่าไรยังกุมไม่ได้ ทางจัดตั้งเห็นว่านี่เป็นกรณีฉุกเฉิน เพราะเมื่อนับรวมกับเวลาที่สหายเราเดินมาอีกหนึ่งวันแล้ว บางทีกำลังส่วนที่ว่า อาจจะอยู่ใกล้ๆแม่จันทะแล้วก็ได้ เป็นครั้งแรกที่ฐานที่มั่นส่วนใจกลางอาจถูกคุกคามได้ คำสั่งก็คือให้ผู้กองนิยม นำกำลังลงติดตามและสกัดกั้นหน่วยที่ขึ้นมาโดยเรือยางทันทีผู้กองนิยม รีบระดมทหารเท่าทีพอจะหาได้ในตอนนั้น มีทหารหลักไม่กี่คน ทหารสื่อสาร และทหารบ้าน ประกอบกำลังกันได้สักหมู่หนึ่ง ทั้งผู้กองนิยมและจ่าสมานกับพวกเราระดมกันตัดไม้ไผ่ทำแพขึ้นมา4-5 ลำ กว่าจะเสร็จก็เลยเที่ยงแล้ว เราตัดสินใจออกเดินทางกันเลย นอกจากsoftware ที่เราถือติดมือมาคนละกระบอกแล้ว ทางผู้บัญชา ได้นำ hardware (M-60) ไปด้วยโดยมัดไม้ไผ่ทำเป็นฐาน ตั้งจังก้าอยู่กลางแพนั้นเอง จำได้ว่าตอนเราล่องแพเลยบ้านประชาชนมาแล้ว สหายช่วงร้องเพลงทำนองมาร์ชสี่เหล่าด้วยความครึ้มอกครึ้มใจ “……ฝั่งแม่กลองของเรา อย่าให้เขารุกล้ำ ทหารแพทุกลำ ยอมสู้ตาย…….”ขบวนแพของเราถ้าจะบรรยายด้วยศัพท์แสงทางทหารก็ประกอบด้วยแพลาดตระเวนเบา 2 ลำ แพพิฆาตหนัก ชั้น ”ยี่สก” ติดปืนประจำแพขนาด 7.65 มีอาวุธปล่อยจากพื้นสู่พื้น แบบ OOS (Only One Shoot) จำนวน 1 ท่อ ระวางขับน้ำ 0.15 ตัน พลประจำ3 ผู้บัญชาการ 1 อุปกรณ์ช่วยรบประกอบด้วยหม้ออลูมิเนียม เบอร์ 26และ28อย่างละ 1 ใบ แหใหญ่ 1 ปาก เล็ก 1 ปาก ตะคัด (ตาข่ายรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าใช้ขึงขวางน้ำดักปลา) สั้น 1 ราว เรดาร์ระบบสองตา กำลังขยาย 1 : 1 ส่วนระบบป้องกันการโจมตีทางอากาศเราเลือกใช้ระบบที่มีประสิทธิภาพที่สุด คือระบบ JAR ( Jump and Run ) การขับเคลื่อนใช้แรงน้ำเป็นหลักแรงคนเป็นรอง การบังคับทิศทางใช้ระบบ พายและถ่อ
3.
ได้เรื่องละครับ ลงบรรทุกกันแบบนี้ พอเลยสบแม่จัน-แม่กลองมาได้สักสองชั่วโมง เจ้าแพที่ว่าก็เกิดอาการ “ แตก “ ครับ แตกจริงๆ ผมยืนอยู่บนแพ เห็นหวายที่มัดหัวแพขาด ลำไม่ไผ่ที่มัดคลอน แล้วค่อยๆแยกออกเป็นลำๆไปคนละทิศละทาง เราคว้าของแล้วกระโดดลงไปยืนอยู่ในน้ำ ที่ลึกประมาณ เลยเข่าขึ้นมาหน่อย สันนิษฐานว่าเนื่องจากเป็นหน้าแล้ง น้ำไม่สูง เวลาเราผ่านแก่งต่างๆบางแห่งแพครูดไปกับกรวดใต้น้ำต้องถ่อช่วยกันอุตลุด และเราบรรทุกน้ำหนักเกินด้วย เราช่วยกันซ่อม พอจะไปกันต่อได้ ระหว่างที่เรากำลังซ่อมอยู่นั้น มีสหายคนหนึ่งเอ่ยขึ้นว่า “ ผมว่าเราตามไปไม่ทันหรอก” ทุกคนหยุดนิ่ง คิด เออ จริงๆนะ แพไม้ไผ่ กับเรือยางติดเครื่องยนต์ แต่อย่างไรเราก็ต้องไปให้ถึงจุดที่เราใช้ข้าม มาถึงตรงนี้ผู้กองสั่งปรับขบวนใหม่ ให้ลำของแกอยู่ข้างหน้าสุด ให้พวกเราทิ้งระยะให้ห่างเข้าไว้และที่สำคัญ ห้ามส่งเสียงดังโดยเด็ดขาด แล้วแกก็หายขึ้นฝั่งไปสักครู่ กลับมาพร้อมกับไม้ไผ่ลำเล็กๆขนาดใหญ่กว่าคันเบ็ดตกปลาแต่ค่อนข้างยาว แกสั่งให้ออกแพทันที แล้วให้พวกเราเว้นระยะให้ห่างขนาดส่งเสียงไม่ได้ยินค่อยออกแพตามไป เรารอสักครู่ก็ค่อยตามไปจนทัน ผู้กองแกใช้ตะคัด ผูกเข้ากับปลายไม้ไผ่ อีกข้างก็ผูกใกล้ๆกับโคนให้เหลือที่สำหรับจับสักสองคืบ บังคับให้แพกินร่องน้ำด้านซ้ายมือแล้วเหวี่ยงเจ้าสิ่งประดิษฐ์ของแกไปทางขวา ตะคัด กางออกขวางน้ำ มันคือการตีอวนขนาดเล็กนั่นแหละครับ ดูแกบังคับด้วยสองมือแล้ว ต้องใช้กำลังมากทีเดียว ผ่านแค่ หนึ่งแก่ง แกก็ยกขึ้นมา ติดปลาขนาดฝ่ามือเต็มไปหมด สหายกระเหรี่ยงที่อยู่บนแพกับผม เอ่ยอย่างผู้รู้สถานการณ์ว่า “ เดี๋ยวเราคงพักกันแถวนี้ละสหาย”ปฎิบัติการไล่ล่าตามลำน้ำสิ้นสุดลงที่จุดข้ามแม่กลองตามที่กำหนดไว้ตั้งแต่ต้น เราหยุดย่างปลาที่นั่น อีกหนึ่งวัน จากนั้นผู้บัญชาการสั่งสละแพ แปรสภาพจากทหารแพเป็นนาวิกโยธิน เดินบกกลับอีก 1 วันเต็ม คราวนี้ก็มาถึง เจ้าhardware ใครก็ไม่อยากแบก ในที่สุดภารกิจอันหนักอึ้งทางประวัติศาสตร์ ก็ตกอยู่บนบ่าอันล่ำสันของสหายอดทน ผู้เป็นขาประจำ ส่วนขาโจ๋ แบกปลาย่าง และเนื้อย่างกลับ
เคยลงในhttp://www.thaioctober.com/ เมื่อ 6/4/2005

Big GunS

ที่เขตตากโดยเฉพาะเขตใต้ มีปืนพิการอยู่ 2-3 กระบอก เป็นปืนใหญ่เสียด้วย(7.65 mm.) ทั้งเขตใต้มี AK47 อยู่ซัก 10 กระบอกที่เหลือเป็น M16 และ M1-M3 (คาร์บิน) ปืนที่ว่าพิการนั้นคือทางหน่วยช่างได้นำมาซ่อมจนสุดความสามารถเพื่อให้ใช้ยิงได้ มี ปลยบ.88 อันนี้ไม่พิการแต่ชรามากแล้ว เข้าใจว่าเมื่อหนุ่มๆคงผ่านสงครามต่อต้านฝรั่งเศสในอินโดจีนมา เนื่องจากอายุมาก,หูตาฝ้าฟาง,ยิงไม่ค่อยแม่น,กระบอกนี้เมื่อออกจากหน่วยช่างของ"สหายสุ"มาแล้วอยู่ม่งควะพักหนึ่งก็มาเคลื่อนไหวอยู่แถวหน่วยเทคนิคการผลิตที่เกลอโบนั่นแหละ ตั้งใจว่าจะใช้ยิงเครื่องบินเป็นหลักเพราะballistic เข้าเกณฑ์ อีกกระบอกเป็น 05-NATO กระบอกนี้ยึดมาในสภาพที่บาดเจ็บสาหัส หน่วยช่างตัดสินใจปิดท่อแก๊สถาวร เลยทำการยิงได้แบบ manual เท่านั้น autoไม่ได้เคยเห็นมาเดินอยู่ในกองร้อย911 พักนึงแล้วหายไป เข้าใจว่าขี้เกียจแบกก็เลยเก็บขึ้น กระบอกนี้เสียงดังดีเอาไว้ยิงข่มขวัญแต่ต้องยิงทีละนัดแล้วกระชากลูกเลื่อนเพื่อขึ้นลูกใหม่ระยะหลังทราบว่ายิงได้แค่นัดแรกนัดเดียว,กระบอกสุดท้ายเป็น M16 กระบอกนี้มีคนเอาไปหกล้มแถวๆจะแก ลำกล้องงอเกือบ 90 องศา ต้องตัดออกเป็นลำกล้องสั้น(อีกสิบปีให้หลังบริษัทผู้ผลิตจึงได้ทำตาม) กระบอกนี้ยิงดี,รัวได้ไม่ติด,น้ำหนักเบาคล่องตัว เสียอย่างเดียวคนยิงต้องเล็งเป็น เพราะเป็นประเภทเล็งหัวถูกเท้านั่นแหละครับ
เคยลงในwww.thaioctober.com เมื่อ 1/4/2005

บ้าน

ครกน้ำ

ริมฝั่งแม่จัน

เพลงสุขีชีวีสัมพันธ์

เพลงสุขีชีวีสัมพันธ์
(จังหวะ waltz)

วารดิถี สายชีวี สัมพันธ์
รุ่งแสง แห่งสุริยัน พาสุขใจ
อันความรักชื่นสุข พลันความทุกข์สิ้นไป ใต้ดวงสุรีย์

เชิญหมู่บุษบา หอมโชยมา ตามสายลม
เมฆจ๋า ดาราชื่นชม เป็นสักขี
เฝ้าถนอมมิตรใจ เทิดทูนไว้มิตรไมตรี ฤดีสราญ

* คู่บุณย์ เกื้อหนุน ยามรักเกิด
ช่วยชูเชิด ฟูมฟัก สมัครสมาน
รักคนรัก รักประชา รักคู่กัน
ความรักนั้น เผื่อผู้ทุกข์ ทั่วถิ่นไทย

มวลหมู่ประชา สายธารา เห็นใจ
แมกไม้ ในกลางป่าดง คงสุขศรี
มงคลแล้วให้ใสสด อนาคตให้เปรมปรีดิ์ สุขีเถิดเอย



( เนื้อร้องและทำนอง โดย วิสูตร์ ทิพย์ธาร ( ทิพย์วิวัฒน์พจนา) หรือ ส.โชติ แต่งขึ้นเมื่อราววันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๒๓ เนื่องในการแต่งงานของ ส.เริ่ม กับ ส.คำ ณ สำนัก ๔๐๑ แม่จันทะ ที่เพิงพักริมฝั่งแม่จันทะ ใช้เวลาแต่งราว ๒๐ นาที โดยแต่งก่อนวันแต่งราว ๑-๒ วัน ซึ่งสหายร่วมสำนักได้ใช้ร้องในวันแต่งงาน ซึ่งน่าจะเป็นวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๒๓ )

ถือว่าเป็นคำปรารภชั่วคราวก็แล้วกัน

จากวาระการฉลองสถูปที่จัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกถึงผู้เสียสละชีวิตในระหว่างการต่อสู้เพื่อสังคมใหม่ที่ดีกว่า ซึ่งประกอบด้วยสหายชนชาติม้ง กระเหรี่ยง ยาง และไทย ได้มิตรสหายจำนวนมากทั้งที่เคยปฏิบัติงานอยู่ที่เขตนี้และที่มาเยี่ยมชมรวมทั้งพี่น้องประชาขนมีความเห็นว่าน่าจะมีการบันทึกเหตุการณ์ช่วงนั้นไว้ เพราะเป็นช่วงเวลาที่มีความหมายกับชีวิตของผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในระยะของการต่อสู้อันยาวนานนั้นก่อให้เกิดเป็นวีรภาพที่องอาจกล้าหาญยิ่ง
ด้านหนึ่งได้ปรากฏเป็นขบวนแถวประชาชนอันยาวเหยียดให้การสนับสนุนการต่อสู้โดยอุทิศหยาดเหงื่อแรงงานของตน ยอมแบ่งข้าวในจานตนเองหนึ่งจานกินสองคน ยอมทำงานหนักขึ้นแรงหนึ่งเพื่อให้ได้งานเท่ากับแรงสองคน สตรีสามัญที่เป็นแม่และภรรยาผู้กล้าหาญซึ่งยอมให้สามี ลูก หลาน ไปทำการต่อสู้ เหล่านี้ประกอบกันขึ้นเป็นการเสียสละอย่างไม่มีขอบเขต
อีกด้านหนึ่งก็ได้ให้กำเนิดผู้ปฏิบัติงานที่ดีขององค์กรฝ่ายประชาชนเป็นจำนวนมาก ผู้ซึ่งทุ่มเททั้งแรงกายและแรงสมองเพื่อความเข้มแข็งของประชาชน ผู้อุทิศวัยเยาว์และวัยฉกรรจ์ให้กับการต่อสู้เพื่อสังคมที่เป็นธรรมจำนวนไม่น้อยที่เสียสละชีวิตของตนเอง มอบร่างกายกลับคืนสู่ผืนดิน เหลือไว้แต่นามนักสู้ของประชาชนสามัญเท่านั้น
คณะทำงานฯจึงดำเนินการรวบรวมข้อมูล ข้อเขียน บทสัมภาษณ์ รูปถ่ายฯ เพื่อจะจัดพิมพ์หนังสือเพื่อบันทึกรายละเอียดบางประการและจำลองภาพประวัติศาสตร์ในช่วงนั้นมิให้หายไปกับกาลเวลาต่อไปและเราเปิด Blog นี้ขึ้นเพื่อเป็นสื่อกลางประชาสัมพันธ์ในระยะที่รวบรวมข้อมูลเพื่อจัดพิมพ์หนังสือและแสดงตัวอย่างงานเขียนตามที่มิตรสหายเรียกร้องอยากอ่านงานเขียนนำร่องเพื่อจุดประกายความทรงจำที่อาจหลงลืมไปบ้างสำหรับระยะเวลา24-25ปีที่ผ่านมา โดยงานที่จะทยอยลงต่อไปนี้มาจากงานเขียนที่ยังไม่editของบางท่านและจากข้อเขียนที่เพื่อนๆเขียนลงที่อื่นโดยผู้เขียนอนุญาตแล้ว


ขอขอบคุณ
คณะทำงานฯ

ส่งข้อเขียนหรือตัวอย่างได้ที่takbook@gmail.com

Blog Archive